นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า ตามที่ ส.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอให้รัฐบาลเยียวยาชาวสวนมังคุดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ราคาตกต่ำในฤดูกาลผลิตปี 2564 ระหว่างการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และตนร่วมประชุม พร้อมด้วยตัวแทนภาครัฐภาคเอกชนและภาคเกษตรกร เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น โดยได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) ยินดีรับข้อเสนอไปพิจารณา โดยระหว่างนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด (กรมส่งเสริมการเกษตร) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลตลอดจนมาตรการเยียวยาโดยให้ยึดแนวทางการเยียวยาชาวสวนลำไยฤดูกาลผลิตปี 2563 จากนั้นให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในครั้งต่อไปโดยเร็ว และจะเสนอต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังกล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหามังคุดและผลไม้ภาคใต้ 3 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) ตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ และดร.เฉลิมชัย ภายใต้ 7 มาตรการเพิ่มเติมล่าสุดของฟรุ้ทบอร์ด ระหว่างวันที่ 28 - 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ร่วมกับนายสินิตย์ โดยเฉพาะมังคุดมีราคาตกต่ำ พบว่าระบบการขนส่งผลไม้แบบบริการส่งถึงที่รวมทั้งระบบการค้าออนไลน์เกือบเป็นอัมพาตโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้ามังคุดใหญ่ที่สุดของภาคใต้เพราะผู้ให้บริการรายใหญ่ เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย บริษัทเคอร์รี่ เป็นต้น ได้หยุดให้บริการโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ตนจึงได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย เมื่อวันที่ 28 ก.ค. และภายใน 24 ชั่วโมง บริษัท ไปรษณีย์ไทยได้เปิดให้บริการเป็นกรณีพิเศษเร่งด่วนอีกครั้ง พร้อมกัน 105 สาขาใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.เป็นต้นไป ทำให้ระบบการขนส่ง ระบบไปรษณีย์ และการค้าออนไลน์กลับมาเปิดบริการอีกครั้งหนึ่ง และขณะนี้ได้ประสานกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ให้พร้อมนำส่งผู้รับปลายทางที่อยู่ในพื้นที่สีแดงทุกพื้นที่ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า จะเร่งกำชับไปรษณีย์ทุกสาขาให้ดำเนินการตามข้อเสนอและการจัดส่งอาจช้าไป 1 วัน เพราะต้องใช้สาขาปลายทางที่อยู่นอกพื้นที่สีแดงผลัดเวรกันส่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานของสาขาในพื้นที่สีแดงติดโควิด โดยไปรษณีย์ไทยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อช่วยชาวสวน ซึ่งตนได้ขอบคุณบริษัท ไปรษณีย์ไทย และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอลฯ ที่ให้ความร่วมมือกับฟรุ้ทบอร์ดด้วยดีตลอดมา เพราะระบบขนส่งเป็นกลไกสำคัญในการค้าขายและระบายผลไม้ออกจากแหล่งผลิต ทั้งการค้าแบบออฟไลน์และออนไลน์
นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัท เคอรรี่ ตกลงที่จะเปิดบริการอีกครั้งเช่นกัน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ ได้ติดตามประสานงานกับ รมว.เกษตรฯ อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ฟรุ้ทบอร์ดได้คิกออฟโครงการ “เกษตรกรแฮปปี้” โดยรณรงค์ภายใต้กลยุทธ์เพิ่มการขายภายในประเทศทดแทนการส่งออกซึ่งเป็น 1 ใน 7 มาตรการใหม่ของฟรุ้ทบอร์ด ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา และขอความร่วมมือพี่น้องชาวไทยทุกคนรวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยช่วยกันสร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกรด้วยการซื้อผลไม้ไทย
“ช่วงนี้ต้องเร่งช่วยระบายมังคุดคละที่สดอร่อยพร้อมจำหน่ายสู่ผู้บริโภคภายในประเทศทั้งรูปแบบการขายออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งมีปริมาณมากและราคายังไม่น่าพอใจ แม้แนวโน้มราคาเริ่มปรับตัวดีขึ้นจึงได้ออกแคมเปญ “เกษตรกรแฮปปี้” ในวันนี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาอื่นๆ รมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรฯ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าผลไม้ (ล้ง) ทั้งค้าภายในและส่งออกให้ล้งมาซื้อมังคุดด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องทำให้สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น
โดยล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่า มีล้งเข้ามาซื้อขายมังคุดและผลไม้เพิ่มขึ้นจาก 40 กว่าล้ง เป็น 146 ล้ง นอกจากนี้ สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนมังคุดแจ้งว่า สามารถจองตู้คอนเทนเนอร์ที่จะส่งออกผลไม้ทางเรือได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.ซึ่งจะทำให้ลดการขนส่งทางรถไปประเทศจีนที่แออัดติดขัดที่ด่านโหยวอี้กวนและด่านโมฮ่าน มีผลทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาภาคใต้ไม่ทัน เชื่อว่าตู้คอนเทนเนอร์จะทยอยกลับมาขนมังคุดได้มากขึ้นภายในไม่กี่วันข้างหน้า จะทำให้การซื้อขายเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อราคาที่จะขยับตัวสูงขึ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้านนายสินิตย์ กล่าวว่า ปัญหาหลักๆ ที่พบ มาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันและควบคุมเชื้อโรคของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกมังคุดและผลไม้อื่นๆ ของไทย ที่เกิดจากปัญหาการขนส่งล่าช้า การขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์และตะกร้าใส่ผลไม้ รวมทั้งปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่ที่ทำได้ยาก การขาดแคลนแรงงาน และตะกร้ามีไม่พอ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คาดว่า สถานการณ์จะคลี่คลายได้เร็วขึ้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีแนวทางมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยกระจายมังคุดในประเทศช่วงที่การส่งออกมีปัญหา ดังนี้
1. เชื่อมโยงและกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท ซึ่งกรมการค้าภายในโอนเงินให้จังหวัดดำเนินการจำนวน 50,850,000 บาท ตามที่ฟรุ้ทบอร์ดอนุมัติเพื่อกระจายมังคุดจำนวน 16,950 ตัน ออกนอกแหล่งผลิตอย่างเร่งด่วน 2. สนับสนุนค่าขนส่งสำหรับผลไม้ที่ส่งผ่านไปรษณีย์ กรมการค้าภายในร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยสนับสนุนกล่องไปรษณีย์และสติกเกอร์ส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์แก่เกษตรกรรายย่อยจำนวน 20,000 กล่องกล่องละ 10 กก. เพื่อช่วยกระจายผลไม้ 2,000 ตัน และ 3. เชื่อมโยงผู้รับซื้อของกรมการค้าภายในให้ช่วยเร่งระบายมังคุดเกรดรองหรือตกเกรดออกจากแหล่งผลิตโดยเร่งด่วนกรณีเกิดปัญหาระบายมังคุดไม่ทันในบางพื้นที่