น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ได้พบว่าในส่วนของพื้นที่สีแดงเข้มโดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑลได้พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดสด และตลาดนัด โดยพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. -10 ส.ค. พบการติดเชื้อใน 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาด ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะได้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด จะประกอบด้วยมาตรการ 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันคน ป้องกันสถานที่(ตลาด) และ จัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ซึ่งในส่วนการป้องกันคนนั้นจะมีตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ผู้อยู่อาศัยที่ประกอบธุรกิจอยู่โดยรอบ และมีการสุ่มตรวจผู้ซื้อที่เดินทางเข้าไปใช้บริการในตลาด ดำเนินการในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้แบ่งดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่1 ดำเนินการใน 9 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา และสระแก้ว เป้าหมายที่ตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่(500แผงขึ้นไป) ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง มีชุมชนรอบตลาด รวม 27 แห่ง ระยะที่2 ดำเนินการตรวจในพื้นที่ตลาดทุกขนาด ในจังหวัดสีแดงเข้ม 16 จังหวัด ครอบคลุมตลาด 117 แห่ง และระยะที่ 3 ดำเนินการครอบคลุมตลาดทุกขนาด ในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด รวมตลาด 683 แห่ง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการตรวจครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ ATK 808,040 ชุด มีการสำรองสำหรับกรณีตรวจเชิงรุกอีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ ATK ตามมาตรการนี้รวม 850,000 ชุด ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนชุดตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ต่อไป นอกจากดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้ว ตามมาตรการนี้จะมีการให้วัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตามลำดับความเสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ เช่น การมีแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก เพื่อรองรับกรณีผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก.