นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 1 ของปี 2564 มูลค่าหนี้สินครัวเรือน อยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของไตรมาส 1 ปี 2563 แต่หากเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 อัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 1%
ขณะเดียวกันหากพิจารณาในส่วนของจีดีพีของประเทศ โดยในไตรมาส 1 ของปี 2564 ลดลงจาก 15.7 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 อยู่ที่ 15.61 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ก็ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีของไทย ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 90.5% ในขณะนี้
“หากถามว่ามูลค่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นไปอีกหลายไตรมาสหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้เร็ว ก็จะทำให้รายได้ของประชาชนมากขึ้น รวมทั้งมาตรการของรัฐที่จะออกมาก็จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประชาชน และขณะนี้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานก็พยายามที่จะทำงานในเรื่องนี้อยู่”
“มาตรการการเงินที่จะออกมาช่วย ส่วนหนึ่งออกมาใช้ในปัจจุบันอยู่แล้ว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ แต่เรื่องนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการหารายได้ให้กับประชาชนด้วย อย่างไรก็ดี เรียนว่าในระยะถัดไปในส่วนของมูลค่าหนี้ครัวเรือนก็ยังจะเพิ่มขึ้นอยู่ เพราะเรายังอยู่ในภาวะวิกฤต”
พร้อมกันนี้ ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 6.5% ขณะที่สินเชื่อเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 6% ฉะนั้น สิ่งที่จะต้องพิจารณาดูแลก็จะเป็นเรื่องสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
เนื่องจากมีอัตราการเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันคุณภาพของสินเชื่อ หรือ สัดส่วน NPL สินเชื่ออุปโภคต่อสินเชื่อรวม ก็มีอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2563 ที่อยู่ระดับ 2.84% แต่ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ อยู่ที่ระดับ 2.92% จึงถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ เรื่องที่จะต้องดูแลในระยะถัดไป จะต้องมาพิจารณาผลของมาตรการที่มีการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไป และอาจจะต้องมีการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถมีกำลังในการใช้จ่ายอยู่ได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินที่จะออกมา จะต้องเป็นมาตรการที่ให้ความสำคัญกับการที่จะออกมาแล้ว ไม่ก่อให้เกิด Moral Hazard ในระบบการเงิน เพราะหากมาตรการการเงินที่ออกมาทำให้ลูกหนี้ที่ดีหยุดชำระหนี้ไปด้วยจะทำให้เกิดปัญหาในระบบการเงินตามไปด้วย ฉะนั้น การออกมาตรการทางการเงินดังกล่าวจะต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ จะต้องมีการดูแลในแง่การที่จะสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน เพื่อให้สามารถมีรายได้เพิ่มเติม เนื่องจากขณะนี้ยังมีครัวเรือนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ หากไปเข้าสู่สินเชื่อนอกระบบก็จะทำให้เกิดปัญหาซ้ำเติมเข้ามาอีก ฉะนั้น ในเรื่องมาตรการที่จะออกมาในอนาคต ทั้งการรักษาระดับจ้างงาน ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลต่างๆ จะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้ครัวเรือนมีความสามารถและกำลังในการใช้จ่ายต่อไปได้
รวมทั้งจะต้องมีการเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่จะออกมาในแง่ของการกู้เงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และเรื่องการทวงถามหนี้จะต้องมีการดำเนินการให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยคณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ก็จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้