ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ธรรมาภิบาล ย้อนกลับ
กสม.เรียกร้อง 3 ข้อ แนะรัฐรีบปฏิรูปองค์กรตำรวจ เร่งผลักดัน ร่างกฎหมายซ้อมทรมาน
26 ส.ค. 2564

กสม.แถลงการณ์เรียกร้อง 3 ข้อ แนะปฎิรูปองค์กรตำรวจ ชี้เหตุตำรวจซ้อมทรมานผู้ต้องขังถึงแก่ความตาย ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง แนะรัฐบาลเร่งผลักดันร่างกฎหมายซ้อมทรมานฯ

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ ตามที่ปรากฏข่าวและคลิปของเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งในพื้นที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะและซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อเรียกรับผลประโยชน์กระทั่งผู้ต้องหารายดังกล่าวได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตนั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า การกระทำดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ต้องหาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอาจได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิต จึงถือว่าขัดต่อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ตลอดจนไม่สอดคล้องตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

กสม.มีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเชื่อมโยงให้เห็นถึงปัญหาการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งยังคงปรากฏเป็นเรื่องร้องเรียนมายัง กสม.เป็นระยะ ประกอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์แจ้งในการกระทำความผิด จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการดังนี้

1. เร่งสอบสวนและดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มดังกล่าว ด้วยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้  ตลอดจนจัดให้มีการคุ้มครองพยานที่รัดกุม โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรพิจารณาสั่งการให้มีการติดกล้องวงจรปิดในกระบวนการและสถานที่สอบสวนทุกแห่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน

2. เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ตามที่ กสม.เคยมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือที่ นร 0503/ว(ล)26227 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2564 เห็นชอบให้บรรจุเรื่องการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นเรื่องด่วนในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพื่อให้มีการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องตามอนุสัญญา CAT ที่ประเทศไทยเป็นภาคีโดยเร็ว ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อันเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานและการทำให้บุคคลสูญหายได้อย่างเป็นรูปธรรม

3. ผลักดันให้มีการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง กระบวนการ และกฎระเบียบ โดยเฉพาะกระบวนการสืบสวนสอบสวนที่จะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยให้อัยการเข้ามากำกับการสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องตามหลักสากลและหลักสิทธิมนุษยชน อันจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น จะเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้ทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะองค์กรตำรวจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติว่า บุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องขังหรือผู้ต้องสงสัยว่ามีความผิดหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...