นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อส่งมอบวัคซีนป้องกันไวรัสลัมปีสกิน(Lumpy Skin Disease) ให้กับประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค เพื่อจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายชาญชัย จุลโลบล ปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี และ นายสุรักษ์ นามตะ ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตลอดจนเกษตรกรและผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วมงานและให้การต้อนรับ ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
โดย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ว่าตามที่ประเทศไทยได้พบการระบาดของโรคลัมปีสกิน ในโค กระบือ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเฉพาะในโค กระบือ ไม่เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ผ่านมาได้มีการมอบเวชภัณฑ์ยาฆ่าแมลงพร้อมถังฉีดพ่นให้กับสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์คในเขตพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 16 สหกรณ์ ดังนั้นเพื่อให้การป้องกันโรคที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเพื่อความยั่งยืนในการควบคุมโรค จึงได้จัดหาวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกิน ให้กับชุมนุมสหกรณ์นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด เพื่อนำไปจัดสรรให้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมที่อยู่ในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. อย่างทั่วถึงในครั้งนี้ จำนวน 20,000 โดส ในการนำไปฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่โคนมและหยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในโคนมแบบยั่งยืนต่อไป
รมช.มนัญญาฯ กล่าวด้วยว่า "ตนในฐานะผู้ดูแลกำกับ อ.ส.ค. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคลัมปีสกินในฟาร์มโคนมของเกษตรกรอย่างมาก ที่ผ่านมาได้กำชับให้ อ.ส.ค. และเกี่ยวข้องเข้มงวด กวดขันและจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในพื้นที่การเลี้ยงโคนมทั้งภายใต้การดูแลของ อ. ส. ค.และฟาร์มทั่วไป เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเดือดร้อนและได้รับความเสียหายจากสัตว์ที่ส้มตาย ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อควบคุมโรคลัมปีสกิน ในโค-กระบือ วงเงินงบประมาณจำนวน 684,218,000 บาท ทราบว่ากรมปศุสัตว์ได้นำเข้าวัคซีนลัมปีสกิน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 แล้ว รวม 360,000 โดส และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 อีกจำนวน 137,000 โดส จากแผนที่เตรียมจัดสรรทั้งหมด 5 ล้านโดส ซึ่งหากวัคซีนได้รับการจัดสรรไปยังเกษตรกร และสหกรณ์ฯ อย่างทั่วถึงก็จะช่วยให้การแพร่ระบาดค่อยๆ ลดลงอย่างแน่นอน ทุกวันนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อยู่แล้ว กระทรวงเกษตรฯไม่อยากให้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกินในโคนมเข้ามาซ้ำเติมความเดือดร้อนของเกษตรกรซ้ำเข้าไปอีก การส่งมอบวัคซีคจำนวน 2 หมื่นโดส ในวันนี้จึงถือเป็นการส่งมอบกำลังใจให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและหยุดการแพร่ระบาดโรคลัมปีสกิน ในโคนม
ด้าน นายสุชาติ จริยาเลิศศักดิ์ รองผู้อำนวยการ ทำการแทนผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า อ.ส.ค.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์ค ซึ่งผลิตจากน้ำนมโคแท้ 100% ไม่ผสมนมผง ที่ได้รับซื้อจากน้ำนมโคของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทย ซึ่งเป็นภารกิจหลักของ อ.ส.ค. ในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนม เพื่อสานต่ออาชีพพระราชทาน ทีในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้แก่เกษตรกรไทย ดังนั้นการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดการแพระบาดของโรคลัมปีสกินในพื้นที่การเลี้ยงโคนมภายใต้การดูแลของ อ.ส.ค.จึงถือ เป็นอีกบทบาทสำคัญที่ อ.ส.ค.ให้ความสำคัญ