เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการสมาคมฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เพื่อนำมติที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการที่สมาคมฯ จัดขึ้นก่อนหน้านี้ เสนอให้พิจารณาส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมี นายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ
ทั้งนี้ มีสาระสำคัญประกอบด้วย
(๑) เห็นชอบให้ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นเป็นเทศบาลพร้อมกันทั่วประเทศ แต่ควรให้ประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบลแต่ละแห่งเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะให้ท้องถิ่นของตนเองมีการบริหารจัดการรูปแบบเทศบาลหรือคงรูปแบบองค์การบริหารส่วนตำบลไว้เช่นเดิม ทั้งนี้ เป็นไปตามความในมาตรา ๒๔๙ ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ผ่านประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา
(๒) ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้ควบรวมเทศบาลที่มีประชากรไม่ถึง ๗,๐๐๐ คน หรือมีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า ๒๐ ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องควบรวมด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม พึงพิจารณาเหตุผลดังต่อไปนี้ประกอบด้วย คือ
(๒.๑) การควบรวมพึงพิจารณาควบรวมอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ควบรวมเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีพื้นที่ในเขตตำบลเดียวกันก่อน เป็นลำดับแรก (หนึ่งตำบลหนึ่งท้องถิ่น) แต่ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นสำคัญ กล่าวคือควรจัดให้มีการลงประชามติตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙
(๒.๒) ควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งนั้น มีความต้องการควบรวมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นหรือไม่ ทั้งนี้ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๙ และมาตรา ๗๗ วรรคสอง
(๒.๓) ควรใช้มาตรการแรงจูงใจมากกว่าการใช้กฎหมายบังคับให้เกิดการควบรวม เช่น การให้เงินอุดหนุนทั่วไปแก่เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่มีความประสงค์ควบรวมหลังจากลงประชามติแล้วเพิ่มขึ้นจากที่เคยได้รับไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าจากที่เคยได้รับอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น
(๒.๔) ควรคำนึงถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และการตั้งชุมชน ของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบในการพิจารณาเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการควบรวมด้วย รวมทั้งประสิทธิภาพในการดูแลให้บริการประชาชนให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึงด้วย
(๒.๕) กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงให้เกิดการควบรวมด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามพึงพิจารณาให้ยกเลิกกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ไปพร้อมกันด้วย เพื่อมิให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างผู้นำท้องถิ่นกับผู้นำท้องที่ และเพื่อมิให้เกิดปัญหาความซ้ำซ้อนของอำนาจหน้าที่และงบประมาณของแผ่นดิน