วันที่ 17 กันยายน 2564 ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล) กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม จังหวัดลพบุรี อำเภอพัฒนานิคม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) อุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี เทศบาลตำบลดีลัง และ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 เข้าตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่เอกชน ณ ตำบลดีลัง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดลพบุรี
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า พื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมี รวมถึงวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (กากอุตสาหกรรม) เป็นพื้นที่ของเอกชนมีประมาณ 3 - 4ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 24 ไร่ พบมีการนำถังบรรจุของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วขนาด 200 ลิตร ประมาณ 300 –400 ถัง มาทิ้งในบ่อดินเก่า โดยลักษณะของถังที่ตรวจพบมีการบีบอัดจนสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเจิ่งนองไปทั่วบริเวณโดยรอบ ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วบางส่วนเข้าข่ายเป็นของเสียอันตราย เพราะสามารถติดไฟได้ พื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนั้น อยู่ใกล้เคียงกับบ่อน้ำที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงใช้ประโยชน์ และพบว่าน้ำจากพื้นที่ที่มีการลักลอบทิ้งของเสียเคมีหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วได้ซึมลงไปในบ่อน้ำที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงใช้ประโยชน์แล้ว ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนได้รับความเดือดร้อน
นายอรรถพล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ศปก.พล. ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรพัฒนานิคมไว้เป็นการเบื้องต้นแล้ว เพื่อให้หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพราะการลักลอบทิ้งของเสียเคมี ซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบด้วย
1. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานจำพวก 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 12) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 50)
2. พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23) ขึ้นอยู่กับว่ากากอุตสาหกรรมที่ตรวจพบเป็นวัตถุอันตรายชนิดใด ต้องระวางโทษสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 70 หรือมาตรา 71 หรือมาตรา 72 หรือมาตรา 73)
3. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 19) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 71) และความผิดฐานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 33) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 71)
4. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คือความผิดฐานเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 34/2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 58/2)
5. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย ความผิดฐานดำเนินโครงการก่อนที่รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับรายวันอีกไม่เกินวันละหนึ่งแสนบาทตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือหยุดการกระทำนั้น (มาตรา 101/1) และต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่าย หากเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของเอกชน หรือมีความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (มาตรา 96 และมาตรา 97)
ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ดิน แหล่งน้ำ และน้ำใต้ดินปนเปื้อน ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายและการฟื้นฟู โดยใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเอาผิดทุกกฎหมายทั้งทางแพ่งและอาญา หากผู้ใดพบเห็นการลักลอบทิ้งของเสียเคมีในพื้นที่ ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ขอความร่วมมือให้แจ้งเบาะแสมาที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) ซึ่งจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามและบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าของสถานที่ ผู้ลักลอบทิ้งของเสียเคมีและแหล่งกำเนิดมลพิษที่เกี่ยวข้อง นายอรรถพล กล่าว