นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงผลประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สรุปว่าศบค.เห็นชอบข้อเสนอการปรับมาตรการสำหรับกิจกรรมและกิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ที่สามารถเปิดให้บริการได้ ประกอบด้วย
1.ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เปิดดำเนินการได้แต่ต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯโดยกระทรวงสาธารณสุขกรมอนามัย 2.ห้องสมุดสาธารณะ ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดเอกชนและบ้านหนังสือ 3.พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะเดียวกันแหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณสถาน 4.ศูนย์การเรียนรู้ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมหรือหอศิลป์ เปิดได้จำกัดจำนวน เช่น 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร หรือให้เข้าชมได้ไม่เกิน 75% ตามกำหนด โดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาห้ามรับประทานอาหาร และเคร่งครัดมาตรการสาธารณสุข
5.ร้านทำเล็บ เปิดดำเนินการได้แต่ต้องนัดหมาย 6.ร้านสัก เปิดดำเนินการได้โดยนัดหมายล่วงหน้า ลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง 7.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (นวด สปา)เปิดดำเนินการได้ โดยนัดหมายล่วงหน้าจำกัดเวลาบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน แต่ยังไม่เปิดบริการอบไอน้ำ สามารถเปิดบริการที่ใช้น้ำ เพื่อสุขภาพในกิจการสปาภายใต้พระราชบัญญัติประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 และลูกค้าได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง 8.ธุรกิจโรงภาพยนตร์หรือฉายภาพยนตร์ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น.เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรหรือลดจำนวนเหลือประมาณ 50% สวมหน้ากากตลอดเวลา และไม่รับประทานอาหาร
9.การเล่นดนตรีในร้านอาหารเปิดดำเนินการได้ จำกัดจำนวนนักดนตรีไม่เกิน 3 คน นักดนตรีสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา นักร้องถอดหน้ากากอนามัย เฉพาะเวลาร้องเพลง หรือแสดง ห้ามสัมผัสคลุกคลีกันระหว่างนักร้อง นักดนตรีและลูกค้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงระบบหมุนเวียนอากาศรวมทั้งการจัดสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรการ Covid Free Setting และ 10. ส่วนศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ยังไม่เปิดดำเนินการ ให้มีการติดตามสถานการณ์ 2-4 สัปดาห์ เนื่องจากทำให้มีการเดินทางเข้าร่วมอบรมสัมมนาจากหลายพื้นที่และมีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก โดยทุกกิจกรรมและกิจการให้เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ต.ค. ทั้งนี้ส่วนการแสดงมหรสพ นายกฯ ให้รมว.วัฒนธรรมไปดูรายละเอียด เพื่อให้มีการกำหนดมาตรการให้สามารถประกอบกิจการและกิจกรรมได้
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอการปรับเงื่อนไขมาตรการ สำหรับกิจการและกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ประกอบด้วย 1. การห้ามออกนอกเคหสถาน มาตรการเดิมเวลา 21.00-04.00 น. ปรับลดเป็นเวลา 22.00-04.00 น.อย่างน้อย 15 วัน 2.ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า เดิมเปิดบริการได้ถึงเวลา 22.00 น. ปรับเป็นเปิดบริการได้ถึงเวลา 21.00 น.โดยให้เปิดสถาบันกวดวิชาได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ รวมถึงให้เปิดโรงภาพยนตร์ สปา ห้องออกกำลังกาย ฟิตเนส สระว่ายน้ำได้ ตามแนวทางที่กำหนด แต่ยังไม่เปิดดำเนินการตู้เกมเครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก สวนน้ำ ห้องประชุมและห้องจัดเลี้ยง
3.ร้านสะดวกซื้อตลาดสดหรือตลาดนัด (เฉพาะจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค) เดิมเปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น.ปรับเป็น เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. และ 4. ประเภทกีฬากลางแจ้ง หรือในร่มที่เป็นที่โล่งอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศหรือประเภทกีฬาในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศมาตรการเดิม ประเภทกีฬากลางแจ้งหรือในร่มที่เป็นที่โล่งไม่มีระบบปรับอากาศ เปิดไม่เกินเวลา 20.00 น.ส่วนประเภทกีฬาในร่มที่มีเครื่องปรับอากาศยังไม่เปิดดำเนินการ รวมถึงสามารถใช้สนามกีฬาทุกประเภทเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาได้ ปรับเป็นเปิดดำเนินการได้ทุกประเภทกีฬาไม่เกินเวลา 21.00 น.โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมตามขนาดสถานที่และประเภทกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่มจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชม ส่วนกรณีประเภทกีฬากลางแจ้งจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมไม่เกิน 25% ของความจุสนาม ผู้ชมได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ ATK หรือ RT-PCR เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้กรณีมีการแข่งขันให้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อย ยังคงระดับเดิม คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด นอกจากนี้ศบค.ยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรคราว ที่ 14 ประกอบกับสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในกรุงเทพฯและปริมณฑลส่วนในต่างจังหวัดพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนในงานประเพณี เช่น งานศพและในสถานประกอบการโรงงาน แม้นว่าปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยจะยังคงที่แต่อัตราการเสียชีวิตอย่างน่าเป็นห่วงประกอบกับมีการกลายพันธุ์ของเชื้อ 4 สายพันธุ์ที่ยังไม่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นมาตรการทางด้านสาธารณสุขในการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชาชน ทั้งการเดินทางเข้าประเทศและเดินทางในประเทศยังคงมีความจำเป็น
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยร่างกฏหมายฉบับดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)แล้ว แต่ยังจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้มีการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นคราวที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.จนถึงวันที่ 30 พ.ย.2564.