เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -35.0 และ -29.2 ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงร้อยละ -19.0 และ -21.9 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนสิงหาคม 2564 ลดลงที่ร้อยละ -40.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงร้อยละ -26.2 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -6.8 ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.0 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ร้อยละ -8.3 ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -4.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 21.6 ต่อปี
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัวร้อยละ 98.8 84.8 และ 48.4 ต่อปี ตามลำดับ