โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า 1.สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติลงนามในญัตติที่จะยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. โดยได้นัดหมายเดินทางไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ในวันที่ 4 ต.ค. เวลา 10.00 น. ซึ่งจะยื่นทั้งหมด 4 ชุด ประกอบด้วย ชุดแรก เป็นคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ชุดที่ 2 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชุดที่ 3 เป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ชุดที่ 4 เป็นนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการวัคซีนทั้งหมด 3 เรื่อง เช่น การไม่เข้าโครงการโคแว็กซ์ การผูกขาดเอื้อประโชน์วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา การทุจริตจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค ทุจริตการจัดซื้อชุดตรวจ ATK และการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด ไร้ประสิทธิภาพ จัดซื้อวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพให้คนไทย และมีเรื่องยางพาราเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการออกมติ ครม.ที่ขัดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตสต๊อกยางพารา ส่งผลให้เกิดหารขายในราคาที่ต่ำกว่าปกติ เอื้อเอกชนรายเดียว ผิดกฎหมายการยางเรื่องการรักษาเสถียรภาพ ทำราคายางลดต่ำเพราะมีการทุ่มราคา
สำหรับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ 8 ปี นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 158 เขียนไว้ชัดเจนว่า นายกฯ มีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจนานเกินไป และเป็นประเด็นในอนาคตอาจต้องมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวถึงเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกฯ นั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 158 เขียนชัดว่านายกฯจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ฝ่ายค้านแทบจะไม่ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่ประการใด เพราะชัดเจนในตัวมันเองแล้ว
ทั้งนี้ ถ้าตีความแบบฝ่ายค้านตีความต้องนับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ในรัฐธรรมนูญยังระบุว่า ครม.ที่เป็น ครม.อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้เป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม ในการยื่นร้อง ถ้าไม่มีเหตุเกิดขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญก็คงจะไม่น่ารับไว้ เราจึงจะไม่ยื่นในขณะนี้ เพราะยื่นไว้คงไม่เกิดประโยชน์ เราจะพิจารณาเรื่องนี้เมื่อมีเหตุที่เหมาะสม
ขณะที่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ประเด็นนี้ยึดโยงกันอย่างน้อย 3 มาตรา คือ มาตรา 158 ระบุไว้ชัดเจน ซึ่งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ทำเอกสารอธิบายความมุ่งหมายไว้ชัดเจน ว่าเพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤติทางการเมือง และหากเรายังปล่อยให้พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจนานเท่าไหร่ก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองจนเกิดวิกฤติ
มาตรา 170 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า ความเป็นนายกฯ สิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 158 และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1.ครม.ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ ก็ให้ถือเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย และ 2.หากเราดูบทเฉพาะกาลมาตรานี้จะมีการยกเว้นลักษณะต้องห้าม และเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี แต่ไม่มีมาตราไหนเลยที่จะยกเว้นมาตรา 170
เรื่องนี้ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้ และการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในตอนนี้โดยไม่จำเป็น จะเป็นการขยายอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินจำเป็น ทั้งนี้ เราหวังว่า นายกฯ จะเคารพเจตจำนงค์ของรัฐธรรมนูญที่ตนเอง และแม่น้ำหลายๆ สายของตนเองยกร่างเอาไว้
“เอาเข้าจริงๆ แล้ว ผมว่าไม่จำเป็นต้องรอถึง ส.ค.ปีหน้า ทุกวันนี้ ผมคิดว่า รัฐบาลทราบดีว่า เราอยากได้นายกฯ คนใหม่เร็วที่สุดทุกเวลา ส.ค.ปีนี้ยังคิดว่าช้าเกินไป” นายชัยธวัช กล่าว