นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวในฐานะประธานการแถลงนโยบายและแนวทางปฏิบัติราชการของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ว่าปัจจุบันประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 นำมาซึ่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังมาตรการล็อกดาวน์การเปลี่ยนแปลงของสภาพการจ้างงานเป็นผลทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ซึ่งส่งผลให้แรงงานกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานทักษะต่ำ แรงงานผู้หญิง แรงงานข้ามชาติในประเทศ เป็นกลุ่มแรงงานที่กรมต้องเข้ามาดูแลโดยด่วน กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินนโยบายการทำงานเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด “คนสำราญ งานสัมฤทธิ์ผล ประชาชนพึงพอใจ” เน้นย้ำการทำงานเชิงรุก ได้แก่ 1) สานงานต่อ โครงการที่ทำแล้วมีผลกระทบเชิงบวกต่อองค์กรและประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรและยกระดับการให้บริการของหน่วยงานสู่ความเป็นเลิศ พร้อมเร่งรัดการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมและทั่วถึง 2) ก่องานเพิ่ม โดยเน้นที่นโยบายเร่งด่วนด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่ Tier 1 โดยพุ่งเป้าการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อคุ้มครองแรงงานไม่ให้มีการละเมิดสิทธิด้านแรงงานในกิจการประเภทต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดการละเมิดสิทธิแรงงานให้นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการแรงงาน นอกจากนี้กรมจะดูแลแรงงาน ทั้งในและนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย การดำเนินมาตรการเชิงรุกด้านความปลอดภัยในการทำงาน (Safely & Healthy Thailand) เพื่อให้อัตราการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พร้อมส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุกในภาวะวิกฤตด้วยระบบทวิภาคีและส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) ตลอดจนปรับปรุง พัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นระบบ Big Data สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมจะพัฒนาขีดความสามารถการทำงานของบุคลากร องค์กร ตลอดจนการบริหารจัดการและการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยโครงการที่เป็นงานใหม่ โดย 3) เติมงานใหม่ มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เช่น โครงการ Factory Sandbox การส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ของสหภาพแรงงาน การพัฒนาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ให้มีความเข้มแข็ง การเทียบเคียงมาตรฐานแรงงานไทยกับมาตรฐานอื่น ๆ เช่น ISO 45001 ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น เช่นเดียวกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่เทียบเคียงคุณวุฒิการศึกษา กับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ พร้อมกันนี้กรมจะมุ่งพัฒนาการให้บริการ การอนุมัติ การอนุญาต เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์และอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองแรงงานด้วยระบบภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics) และพัฒนาระบบการตรวจแรงงานในรูปแบบการรับรองตนเอง (Self – Declaration) เพื่ออำนวยความสะดวกให้สถานประกอบกิจการลดต้นทุนหรือเวลาในการดำเนินงาน และพัฒนาไปสู่การตรวจสอบโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต
“กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการกำกับดูแลให้แรงงานทั้งในและนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งพัฒนามาตรฐานแรงงานไทยเทียบเท่าสากลพร้อมยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป” อธิบดี กสร. กล่าวในตอนท้าย