ด้วยสภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ สํานักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลําพูน จึงขอเตือนผู้ปลูกผักตระกูลกะหล่ําและผักกาด (เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ําดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว ผักกาดหัว ผักฮ่องเต้ ผักหางหงษ์ ผักกวางตุ้ง คะน้า เป็นต้น) ในทุกระยะการเจริญเติบโต ให้รับมือโรคใบจุด (เชื้อรา Alternaria brassicicola และ A. brassicae)
ซึ่งโรคนี้เกิดได้ทุกส่วนและทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช อาการระยะต้นกล้าจะเกิดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มที่ลําต้น จากนั้นแผลจะขยายใหญ่ อาการคล้ายโรคเน่าคอดิน ทําให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต อาการระยะต้นโต ถึงระยะเก็บผลผลิต มักพบบนใบและก้านใบ เกิดเป็นแผลจุดเล็กๆ สีเหลือง ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ มีสีน้ำตาลเข้มถึงดํา ลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ในกะหล่ำปลี ถ้าเกิดโรคหลังจากห่อหัวแล้ว และสภาพอากาศมีความชื้นสูงจะเกิดอาการเน่าอย่างรุนแรงทั้งหัวในกะหล่ําดอก และบรอกโคลี ถ้าเกิดอาการที่ดอก จะทําให้เกิดแผลสีน้ำตาล โดยเริ่มจากช่อดอกที่อยู่ริมนอกลามเข้ามาด้านใน หากเป็นโรครุนแรงจะถูกทําลายทั้งดอก
สาเหตุส่วนหนึ่งเชื้อโรคสามารถติดเมล็ด ทําให้เมล็ดสูญเสียความงอก หรืออาจแฝงตัวในเมล็ดพันธุ์ ทําให้เกิดการระบาดของโรค เมื่อนําไปปลูกในฤดูถัดไป
ในส่วนของแนวทางป้องกันและแก้ไข
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค ไม่นําเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่พบการเกิดโรคมาปลูก
2. แช่เมล็ดในน้ําอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส (การเตรียมน้ําอุ่นโดยต้มน้ําให้เดือด แล้วเติมน้ําธรรมดาลงไปหนึ่งเท่า) นาน 20-25 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกัน กําจัดเชื้อรา ไอโพรไดโอน 50% WP อัตรา 5-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนปลูก
3. หลีกเลี่ยงการปลูกในแปลงปลูกที่เคยมีการระบาดของโรค อย่างน้อย 3-4 ปี
4. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันจนเกินไป ควรให้มีแสงแดดส่องผ่านได้และมีการระบายอากาศที่ดี
5. หมั่นกําจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
6. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ําเสมอ เมื่อพบโรคในระยะกล้า ควรถอนต้นกล้าที่เป็นโรค นําไปทําลายนอกแปลงปลูก หากพบโรคในระยะต้นโต ควรตัดใบที่เป็นโรคออก นําไป ทําลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นสารป้องกันกําจัดโรคพืช เช่น อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 5 -10 มิลลิลิตรต่อน้ํา 20 ลิตร หรือ คลอโรทาโลนิล 50% SC อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ํา 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน