พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการระหว่างกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนนทบุรี ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก
ซึ่งขณะนี้มวลน้ำกำลังเดินทางลงสู่ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล กทม.จึงจัดการประชุมความร่วมมือดังกล่าว เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากน้ำเหนือไหลหลากให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง
ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แต่ละจังหวัด การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ การเรียงกระสอบทราย การเก็บผักตบชวา แผนบำรุงรักษาระบบไฟฟ้า การติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
รวมทั้งการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติป้องกัน และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือแผนเผชิญเหตุ CPX ร่วมกัน อีกทั้งได้หารือและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ อาทิ โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดี ตั้งแต่แยกดินแดงถึงฐานทัพอากาศ และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ
ทั้งนี้ จังหวัดปริมณฑลทั้ง 6 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนครอบคลุมทั้ง 6 จังหวัด รวมทั้งประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่รอยต่อมีความเชื่อมโยงกัน โดยจะประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เนื่องจากฝนตกและน้ำเหนือไหลหลากในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล โดยเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้
1. ทำความสะอาดท่อระบายน้ำในถนนสายหลัก ตรอก ซอย ความยาวรวม 6,564 กิโลเมตร ดำเนินการ โดยใช้แรงงานของสำนักระบายน้ำและสำนักงานเขต และจ้างเหมาเอกชนดำเนินการ
2. เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคูคลอง จัดเก็บขยะวัชพืช 1,980 คลอง ยาว 2,743 กิโลเมตร
3. เตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ จำนวน 762 แห่ง กำลังสูบรวม 2,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยสถานีสูบน้ำมีขีดความสามารถในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,087 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
4. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวัง มีขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
5. เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ขีดความสามารถในการระบายน้ำท่วมขัง 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
6.สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) จำนวน 10 จุด
7.ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 87.93 กิโลเมตร
8.เรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร
9.ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิงจำนวน 30 แห่ง และสร้างธนาคารน้ำ(water bank) จำนวน 2 แห่ง เพื่อชะลอน้ำท่วมปริมาณ 13.41 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเก็บกักในแก้มลิงเป็นการชั่วคราวก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ
10.จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ กรณีฉุกเฉิน อาทิ กระสอบทราย และรถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน
11.จัดเตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST เละเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย 24 ชั่วโมง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังจัดหน่วยบริการฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเนื่องจากน้ำท่วมขังประจำทุกสำนักงานเขต
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลว่า กทม.ได้ร่วมกับกรมชลประทาน บูรณาการการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และได้กำหนดเกณฑ์ค่าระดับและปริมาณน้ำที่ปล่อยเข้าสู่กรุงเทพฯ บริเวณรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดปริมณฑล เพื่อช่วยรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน โดยไม่เกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ และระบายน้ำออกนอกพื้นที่ไม่ให้กระทบพื้นที่รอยต่อ เช่น สถานีสูบน้ำคลองหกวา สายล่าง ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.70 ม.รทก.
ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำเหนือและน้ำจากแม่น้ำป่าสักจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ และคาดว่ามวลน้ำที่ผ่านบางไทร จะลดลงต่ำกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20 ต.ค.64 ซึ่งจะทำให้ กทม.และปริมณฑลไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้เฝ้าระวังน้ำละเลหนุนสูงในช่วงนี้
ด้านปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อำเภอบางไทรวันนี้ (12 ต.ค.) ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกทม. เฉลี่ย 2,817 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 2.05 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ อยู่ประมาณ 0.95 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 20.31 น. ที่ระดับ +1.17 ม.รทก.
สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +0.84 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.50 (ระดับวิกฤติ +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.04 (ระดับวิกฤติ +0.60)