สืบเนื่องจากกรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 โดยการพัฒนาระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2560 โดย คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(คชก.) ได้พิจารณารายงานเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช. จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามมติของ คชก. จนกว่าจะผ่านการพิจารณา
วันที่ 12 ต.ค.64- ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ทางภาคประชาชนจำนวน 649 รายชื่อ และ 88 องค์กร นำโดยเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้มีจดหมายเปิดผนึกส่งถึง พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อคัดค้านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 โดยเห็นว่าเป็นการดำเนินการทำรายงานที่ไม่ชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างรอบด้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ พร้อมกับมีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนรายงานอีไอเอ ฉบับดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
โดย เนื้อหาในจดหมาย ระบุว่า รายงานดังกล่าว ไม่เข้าใจและไม่ได้กล่าวถึงมิตินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล ใช้งบประมาณจำนวนมาก และมีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนจำนวนมาก ดังนั้น การประเมินผลกระทบฯ ควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่รับฟังข้อมูลด้านเดียว และมีธงอยู่แล้วที่จะผลักดันโครงการโขง เลย ชี มูล ดังนั้น การจัดเวทีรับฟังความเห็นต่างๆ จึงเป็นแค่พิธีกรรมที่อ้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งสิ่งที่เป็นข้อกังวลและคำถามของคนอีสานต่อกรณีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล คือ โครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่ที่จะลงทุนหลายหมื่นล้านบาท หรือเป็นแค่การผลาญงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน
“การผันน้ำโขงจะเอาน้ำมาจากที่ไหนผันเข้ามาในภาคอีสาน เพราะเราก็ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงกักน้ำไว้ตอนบน และ สปป.ลาว สร้างเขื่อนไชยยะบุรีกักน้ำไว้เพื่อปั่นไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงยิ่งลดน้อยลงไปอีก และ สปป.ลาว กำลังมีแผนที่จะสร้างเขื่อนสานะคาม ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทย อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 2.5 กิโลเมตร คาดว่าถ้าสร้างเสร็จจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล และปริมาณน้ำที่จะลดลงอีก” นายสุวิทย์กล่าว
ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน สทนช. ก็กำลังผลักดันโครงการสร้างเขื่อนปากชม (ผามอง) ที่บริเวณบ้านคกเว้า ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย กั้นแม่น้ำโขงระหว่างพรมแดนประเทศไทยและ สปป.ลาว เพื่อกักน้ำและยกระดับน้ำให้สูงขึ้นเพื่อให้น้ำเข้าปากแม่น้ำเลย แต่ประชาชนในพื้นที่คัดค้าน
ซึ่งรัฐบาลควรชะลอโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ออกไปก่อน และให้มีการศึกษาการจัดการน้ำโครงการ โขง ชี มูล ที่ผ่านมา ในด้านผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้มีการศึกษาร่วมกันระหว่างภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐต่อทางเลือกในการจัดการน้ำที่เหมาะสม และสอดคล้องกับระบบนิเวศภาคอีสาน