ทั้งนี้ การประกาศความชัดเจนในการเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ให้ทุกภาคส่วนได้มีการเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการบริหารจัดการในการลดความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าและอยู่ร่วมกับการระบาดที่สามารถจัดการได้ โดยทาง กกร. ได้มีข้อเสนอไปยังภาครัฐ 4 ประเด็น ได้แก่
1. การสื่อสารขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทยที่ชัดเจน ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง รวมถึงการเดินทางภายในประเทศไทยจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง และมีหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ตรงกันทุกหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น โดยการสื่อสารไปยังประเทศต่างๆ ถึงกระบวนการที่นักเดินทางจะวางแผนเข้าประเทศไทย
2. การดำเนินการและขั้นตอนในการเปิดพื้นที่และการเปิดสถานประกอบการ ควรให้มีการเปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งควรมีมาตรฐานเดียวกันตามโซนความเสี่ยง พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าจะมีการกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงภายในสิ้นปีนี้ โดยภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการกระจายฉีดวัคซีนเพิ่มเติมทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3
3. การส่งเสริมการใช้ระบบและมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับมาติดตามและลดความเสี่ยงสำหรับนักเดินทาง ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างของการเดินทางเข้ามาในประเทศ สร้างประสบการณ์ที่ดีของการเข้า-ออกประเทศไทย โดยการนำ Digital Transformation มาใช้นี้ จะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ จากระบบ manual ให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถรองรับปริมาณนักเดินทางได้มากขึ้น นอกจากนั้น ภาครัฐควรดูแลระบบฐานข้อมูลกลางของระบบ Digital health pass ที่นำมาใช้เก็บข้อมูล ตรวจสอบ และเปิดกว้างให้เอกชนสามารถเชื่อมต่อ โดยภาคเอกชนยินดีเข้าไปสนับสนุนในส่วนนี้
4. การท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปีนี้ อาจจะยังไม่สามารถช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายรายได้ พร้อมไปกับการรักษาการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
“หอการค้าไทยได้ย้ำเรื่องต้องนำบทเรียนที่เราได้จากการเปิด Phuket Sandbox มาให้แผนงานที่เตรียมการไว้ สามารถปฏิบัติได้จริง พร้อมย้ำเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วประกอบอาชีพในประเทศไทยด้วย เพื่อรองรับการเปิดประเทศโดยเฉพาะภาคบริการ พร้อมกันนั้นยังมีแผนงานที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ เพื่อรองรับการเติบโต และสร้างความเชื่อมั่นในช่วงถัดไป ไม่ว่าจะเป็น การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว การเข้าร่วมเจรจาในกรอบ CPTPP เพื่อหาจุดในการเจรจาได้อย่างเหมาะสม การยกระดับการเดินทางมาประเทศไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ เพื่อเพิ่มการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ พร้อมกับการโปรโมท Workation และการมาลงทุนขยายธุรกิจในประเทศไทย โดยข้อเสนอต่างๆนี้ หอการค้าไทยพร้อมที่จะเข้าไป ร่วมผลักดันกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยได้กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปีหน้า” นายสนั่น กล่าว
สำหรับผลจากการผ่อนคลายมาตรการรอบวันที่ 16 ตุลาคมนี้ เบื้องต้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบ จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อวัน เพราะมีทั้งผ่อนคลายกิจการและขยายเวลาเปิดดำเนินการที่เพิ่มขึ้น กล่าวโดยสรุป เดือนสิงหาคมที่สถานการณ์ระบาดรุนแรง การล๊อคดาว์นทำให้มีความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณเดือนละ 3-4 แสนล้านบาท และเดือนกันยายนที่มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมนั้นทำให้เศรษฐกิจกระทบเหลือ 1-2 แสนล้านบาทต่อเดือน และรอบนี้เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นความเสียหายก็ลดลงเหลือประมาณ 40,000-70,000 ล้านบาทต่อเดือน