นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ถึงกรณีที่ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้นำสุกรมาทิ้งในที่สาธารณะจนเป็นเหตุให้เกิดความวิตกกังวลแก่ประชาชนว่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดได้ ในกรณีดังกล่าวกรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฝังกลบและทำการฆ่าเชื้อโรคแก่ซากสุกรดังกล่าวตามขั้นตอนของกรมปศุสัตว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยจากโรคระบาดที่อาจมีได้ในซากสุกรชุดดังกล่าว
การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นสร้างความเดือดร้อน แก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียงและอาจเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆ ได้ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อเกษตรกรรายอื่นเป็นวงกว้างนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายฉบับไม่ว่าจะเป็นมาตรา 396 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ใดทิ้งซากสัตว์ซึ่งอาจเน่าเหม็น ในหรือริมทางสาธารณะ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือมาตรา 11 แห่งพรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558.ที่กำหนดให้เจ้าของสัตว์แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สารวัตร หรือสัตวแพทย์ ภายในเวลาสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่ทราบว่าสัตว์ป่วยหรือตาย หากไม่ปฏิบัติต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในช่วงเวลานี้เป็นฤดูมรสุมและกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศมีความแปรปรวน ประกอบกับหลายพื้นที่ประสบสภาวะน้ำท่วมทำให้สุกรเกิดความเครียด ประกอบกับหากเป็นฟาร์มของเกษตรรายย่อยซึ่งระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการเลี้ยงสุกร ยังไม่ดีจะทำให้สุกรที่เลี้ยงมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นที่จะเกิดการติดเชื้อขึ้นในฟาร์มโดยเฉพาะที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่นและมีประวัติการระบาดของโรคมาก่อน จึงเป็นสาเหตุให้โรคนี้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
กรมปศุสัตว์ มีความห่วงใยเกษตรกรโดยเฉพาะรายย่อย จึงมีคำแนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสุกรให้มีประสิทธิภาพ เช่น ควรมีการจัดการที่ดีตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพ ควรทำการกักแยกสุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่เพื่อสังเกตอาการก่อนปล่อยเข้าร่วมฝูง ทำความสะอาดฟาร์มด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพ เข้มงวดการทำลายเชื้อโรคในน้ำที่ใช้ในฟาร์มก่อนนำไปใช้เลี้ยงสุกร ยานพาหนะที่เข้า - ออกฟาร์มจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง ไม่นำสุกรที่ไม่ทราบประวัติเข้าสู่ฟาร์มโดยเฉพาะจากพื้นที่ที่เคยมีการระบาดโรคต่างๆมาก่อน รวมทั้งการใช้วัคซีนในการป้องกันโรคแต่ต้องร่วมกับระบบการป้องกันโรคในฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้การควบคุม ป้องกันโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
กรมปศุสัตว์ ขอยืนยันว่า ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคระบาดต่างๆ ในสัตว์อย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ขอให้เกษตรกรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ในการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรคระบาด และขอให้ประชาชนบริโภคเนื้อสุกรได้ตามปกติไม่ต้องตื่นตระหนก