กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (14 ต.ค.64) ว่า ภาคตะวันออกมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยพายุดีเปรสชัน “คมปาซุ” บริเวณตอนเหนือของเมืองวิญ ประเทศเวียดนามตอนบน อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.พิษณุโลก 83 มิลลิเมตร // บุรีรัมย์ 166 มิลลิเมตร // กรุงเทพมหานคร 102 มิลลิเมตร // ประจวบคีรีขันธ์ 31 มิลลิเมตร // ตราด 116 มิลลิเมตร และระนอง 88 มิลลิเมตร โดยแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 57,268 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 70 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 50,472 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 71 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 17 แห่ง บริเวณเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนแม่มอก เขื่อนลำตะคอง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำบึงบอระเพ็ด เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนมูลบน และบึงหนองหารกุมภวาปี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่มต้องเฝ้าระวังช่วง 1 - 2 วันนี้ บริเวณจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครนายก ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ส่วนสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นและเสี่ยงล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำมูล อ.ประโคนชัย อ.สตึก อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ , อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ , อ.เมืองศรีสะเกษ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ // แม่น้ำลพบุรี อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี // แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมือง จ.อ่างทอง // แม่น้ำบางปะกง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และแม่น้ำจันทบุรี อ.เมือง จ.จันทบุรี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เร่งแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ด้วยการให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก วางแผนเก็บน้ำสำรองทั้งผิวดินและใต้ดิน พร้อมจัดทำแผนการจัดสรรน้ำสำหรับหน้าแล้งปี 2565 แล้วประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า // ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาแผนบริหารจัดการน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และต่อเนื่องตลอดลำน้ำชี โดยคำนึงถึงผลกระทบและผลประโยชน์ประชาชนให้มากที่สุด ขณะที่อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่นจัดทำแผนบูรณาการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในจังหวัดขอนแก่น โดยเสนอผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำชีแล้วให้ สทนช. รวบรวมเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบต่อไป สำหรับโครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้วขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เร่งสูบน้ำต่อเนื่องจนมีน้ำเพียงพอและให้สนับสนุนงบประมาณกับจังหวัดด้วย