นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริมการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทย ซึ่งในสถานการณ์โรคโควิดระบาดนี้ กรมปศุสัตว์ได้พัฒนาระบบการตรวจประเมินสถานประกอบการเพื่อการส่งออกโดยการตรวจประเมินระยะไกล (Remote Audit) และระบบการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยในระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำให้การส่งออกสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมปศุสัตว์ได้รับรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 ในด้านการยกระดับบริการที่ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด-19 และด้านการอำนวยความสะดวกในการให้บริการภาครัฐ จากสำนักงาน กพร. ในปี 2564 อีกด้วย ปัจจุบันปริมาณส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทย ในช่วงเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 11% หรือคิดเป็นปริมาณ 1.35 ล้านตัน มูลค่า 126,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) มีปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึง 35% หรือคิดเป็นปริมาณ 4.8 แสนตัน มูลค่า 36,000 ล้านบาท
ด้านนายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิดไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการของกรมปศุสัตว์อย่างเข้มงวดตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มสัตว์มาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในโรงงาน เพื่อรองรับไม่ให้เกิดความสูญเสียจากการสั่งปิดโรงงานเป็นเวลานาน รวมถึงด้านการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับพนักงานในภาคการผลิต
ในส่วนของโรงงานฆ่าสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคให้กับพนักงานแล้ว ทั้งสิ้น 85% อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการยังขาดเแคลนแรงงานอีกจำนวนมาก เพื่อให้การผลิตสินค้าได้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าซึ่งมีความต้องการปริมาณมาก หากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ต่อเนื่องและมีแรงงานจำนวนเพิ่มขึ้น ก็มั่นใจว่าในสิ้นปีนี้ยอดส่งออกจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน