นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อติดตามการดำเนินงานของ กยท. โดยในปี 2565 นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล กล่าวว่า กยท.ได้มีนโยบายในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่ง ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการชะลอการขายยาง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง สำหรับโครงการชะลอการขายยาง กยท.ได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่เขตภาคเหนือ และได้รับผลตอบรับที่ดี และนำมาขยายผลทั่วประเทศในปี 2565 โดยให้เกษตรกรเก็บยางไว้ขายในราคาที่เหมาะสม โดย กยท.จะจ่ายเงินให้ก่อนร้อยละ 80 และเมื่อจะขายยางให้ขายผ่านตลาดยางพารา และจ่ายคืนให้ กยท. และนำเงินส่วนที่เหลือไป ในส่วนโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางนั้น กยท.ดำเนินโครงการผ่านการรักษาเสถียรภาพราคายางฝ่ายเศรษฐกิจยาง ซึ่งจะดำเนินการเข้าไปซื้อยางโดยผ่านตลาดกลางยางพารา ในช่วงที่ราคายางผันผวน ซึ่งจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายกว่า 900 ล้านบาท และมีมูลค่าที่เกษตรกรได้รับสูงขึ้นถึง 50 กว่าล้านบาท
ทางด้าน นายสุชัย บุญวรรโณ ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่าง ได้ชี้แจงสถานการณ์โรคใบร่วงยางพารา ว่า ในขณะนี้สถานการณ์โรคใบร่วงยางพารามีการระบาดอยู่ประมาณ 300,000 ไร่ และคาดว่าจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากเริ่มมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรค โดย กยท. ก็มิได้นิ่งนอนใจได้เตรียมแผนในการเฝ้าระวังการเกิดโรค โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ และสารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค รวมทั้ง เกษตรกรรายใดที่มีความพร้อมจะปรับเปลี่ยนอาชีพก็สามารถดำเนินการได้ ภายใต้โครงการพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดเปลี่ยนจากยางพาราเพื่อปลุกพืชชนิดอื่น หรือปรับเปลี่ยนเป็นอาชีพอื่น (ไร่ละ 10,000 บาท) ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ กยท.เขตภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น
นอกจากนี้ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล ร.ผวก.(ป) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางประสบกับปัญหาในการขอรับการส่งเสริมการปลูกแทนที่ใกล้เต็มจำนวนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งทาง กยท. ก็ได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อรองรับเกษตรกรที่ไม่สามารถขอรับการปลูกแทนได้ทัน โดยมีโครงการเพิ่มผลผลิตน้ำยางโดยใช้เอทธิลีน ซึ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลากลางวัน และเหมาะสมกับพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย กยท.จะสนับสนุนงบประมาณให้ มีข้อตกลงว่า ต้องสามารถยืดระยะเวลาการโค่นออกไปอีก 2 ปี สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่สนใจ สามารถสอบถาม เพิ่มเติมได้ที่ กยท.สาขา/กยท.จังหวัด ใกล้บ้านท่าน