คต. จับมือทีมเซลส์แมนประเทศและเอกชน เร่งประชาสัมพันธ์ข้าวไทยพร้อมสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพมาตรฐานรวมทั้งได้แรงหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ดันยอดคำสั่งซื้อ ก.ย. ทะลุ 8.7 แสนตัน คาดไตรมาสสุดท้ายยังโตต่อเนื่องส่งออกได้เกินเดือนละ 7 แสนตัน ส่งผลให้ทั้งปีส่งออกได้ตามเป้า 6 ล้านตัน
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่า มียอดคำสั่งซื้อเริ่มกลับมาอย่างต่อเนื่องโดยจะเห็นได้จากสถิติกรมศุลกากรการส่งออกข้าวไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกตั้งแต่เดือนมิถุนายน – สิงหาคม ที่มีอัตราการขยายตัว 25.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดหลักที่ไทยส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ แคเมอรูน มาเลเซีย โมซัมบิก และสิงคโปร์ ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกข้าวไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะยังขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากสถิติการขอใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศในเดือนกันยายนที่มีปริมาณสูงถึง 877,555 ตัน ขยายตัว 124.87% และล่าสุดเดือนตุลาคม (วันที่ 1 – 18 ตุลาคม) ปริมาณ 380,234 ตัน เพิ่มขึ้น 47.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 3.18 ล้านตันคิดเป็นมูลค่า 58,685 ล้านบาท โดยข้าวไทยยังคงได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ดังนั้น คาดว่าในปีนี้ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ตามเป้าที่ปริมาณ 6 ล้านตัน
นอกจากนี้ การส่งออกข้าวไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 32 – 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยในตลาดโลกสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญได้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาวและข้าวนึ่งของไทยที่ราคาได้ปรับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับข้าวจากอินเดียและเวียดนาม ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกได้เริ่มคลี่คลาย ในแต่ละประเทศเริ่มคลายล็อคดาวน์มากขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ไทยจะเร่งผลักดันการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในตลาดโลกในช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม เห็นว่าผู้ส่งออกข้าวไทยยังคงต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องมีการวางแผนระบบการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับต้นทุนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย
นายกีรติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งออกข้าวไทยที่กลับมาฟื้นตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากความสำเร็จจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างภาคเอกชนของไทยและกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยด้านการตลาดต่างประเทศ ได้เร่งดำเนินการภายใต้หลักการ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และทูตพาณิชย์ในฐานะเซลส์แมนประเทศเร่งการเจรจา/หารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและประชาสัมพันธ์ข้าวไทยกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย ซึ่งทำให้คู่ค้าเชื่อมั่นในศักยภาพในการส่งออกข้าวคุณภาพของไทยแม้ในช่วงสถานการณ์โควิดฯ และหันมาสนใจนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ คาดการณ์ว่าจากปัจจัยบวกต่างๆ ทั้งสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อในคุณภาพและมาตรฐานข้าวไทย ประกอบกับราคาข้าวไทยที่สามารถแข่งขันได้ในปัจจุบัน จะทำให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โตต่อเนื่องจะสามารถส่งออกข้าวได้เดือนละกว่า 7 แสนตัน และการส่งออกข้าวไทยทั้งปีจะได้ตามเป้าที่วางไว้ที่ 6 ล้านตัน