กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (23 ต.ค.64) ว่า บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว ประกอบกับ มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนและอ่าวไทย ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีกำลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังมีฝนฟ้าคะนองและฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.พะเยา 151 มิลลิเมตร // สกลนคร 67 มิลลิเมตร // ราชบุรี 61 มิลลิเมตร // กรุงเทพมหานคร 82 มิลลิเมตร // ระยอง 40 มิลลิเมตร และตรัง 111 มิลลิเมตร โดยแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 60,232 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 73 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 53,122 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 74 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 17 แห่ง บริเวณเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนแม่มอก เขื่อนลำตะคอง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำบึงบอระเพ็ด เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนมูลบน และบึงหนองหารกุมภวาปี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ตาก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และตราด พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ แม่น้ำชี บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด // แม่น้ำมูล บริเวณ จ.สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และนครราชสีมา // แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร และแม่น้ำท่าจีน บริเวณ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามสภาพอากาศช่วง 1 - 2 วันนี้ยังคงมีฝนตกเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ จึงให้หน่วยงานติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วม คือ ลุ่มน้ำชี – มูล สถานการณ์น้ำท่วมขัง จ.มหาสารคาม โดยพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย ลดลงต่อเนื่อง อ.กันทรวิชัย และ อ.เมือง ระดับน้ำเริ่มทรงตัวและลดลง ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลหลากเข้าสู่ จ.ร้อยเอ็ด // จ.นครราชสีมา สถานการณ์น้ำตั้งแต่ อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และบางพื้นที่ของ อ.เมือง ขณะนี้ปริมาณน้ำจากลำตะคองจะไหลหลากไปยัง อ.โนนสูง อ.เฉลิมพระเกียรติ แล้วจะไปถึง อ.พิมาย ประมาณวันที่ 25 ตุลาคม // จ.อุบลราชธานี เนื่องจากปริมาณน้ำจาก จ.ยโสธร ไหลหลากมาสมทบบริเวณแม่น้ำมูล ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำมูล อ.เขื่องใน และ อ.เมือง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา - ป่าสัก ระดับในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ จ.นครสวรรค์ ลดลงต่อเนื่อง จ.ชัยนาท เขื่อนเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,766 ลูกบากศ์เมตรวินาที ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี และอ่างทอง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ปรับลดการระบายน้ำในอัตรา 570 ลูกบากศ์เมตรวินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักบริเวณ จ.ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา ลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเขื่อนพระราม 6 ได้ปรับการระบายน้ำในอัตรา 719 ลูกบากศ์เมตรวินาที เพื่อลดปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนลุ่มน้ำท่าจีน สถานการณ์น้ำท่วมขัง จ.สุพรรณบุรี ในพื้นที่ 9 อำเภอ มีแนวโน้มลดลง คาดว่า จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 - 2 สัปดาห์ ส่วน จ.นครปฐม สถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี และ อ.สามพราน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ น้ำทะเลหนุนส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น