กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (24 ต.ค.64) ว่า บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนลดลง ประกอบกับ มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมบริเวณภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.เชียงราย 84 มิลลิเมตร // สกลนคร 19 มิลลิเมตร // สระบุรี 28 มิลลิเมตร // ประจวบคีรีขันธ์ 83 มิลลิเมตร // สระแก้ว 34 มิลลิเมตร และยะลา 100 มิลลิเมตร โดยแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 60,558 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 74 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 53,428 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 18 แห่ง บริเวณเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนแม่มอก เขื่อนลำตะคอง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำบึงบอระเพ็ด เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ และบึงหนองหารกุมภวาปี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง ลำพูน กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฏร์ธานี สงขลา และยะลา พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ แม่น้ำชี จ.ขอนแก่น และร้อยเอ็ด // แม่น้ำมูล จนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี // แม่น้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี และนครปฐม
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนบริเวณ อ.เมือง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และ อ.นครชัยศรี อ.สามพราน จ.นครปฐม โดย ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีน (ส่วนหน้า) กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน // ลดการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ (ปากแม่น้ำท่าจีน) จากอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วจะทยอยลดลงตามลำดับ // รับน้ำผ่านคลองชลประทานเพิ่มมากขึ้นด้านฝั่งตะวันตก คือ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) จากอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลอง มก.) จากอัตรา 8 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้านฝั่งตะวันออก คลองชัยนาท-ป่าสักผ่าน ประตูระบายน้ำมโนรมย์ จากอัตรา 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที , คลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่านประตูระบายน้ำมหาราช จากอัตรา 31 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด