ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
เอนก แนะ สอวช. ขับเคลื่อนวัฒนธรรมไทย - ศก. สร้างสรรค์
25 ต.ค. 2564

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม

ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก กล่าวในที่ประชุมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการจัดอันดับประเทศที่มีอิทธิพลทางด้านมรดกทางวัฒนธรรม จากรายงาน World’s Best Countries for Cultural Heritage Influence, 2021 โดย  CEOWORLD Magazine นิตยสารด้านธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ พบว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก โดย ดร. เอนก มองว่า ประเทศไทยมีมรดกทางวัฒนธรรมมากมายที่ประเทศอื่นไม่มี และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนซื้อหา แต่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงกับจุดแข็งอื่น ๆ ของไทยได้ เช่น อาหารไทย มวยไทย ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากชาติอื่น

“เราจะทำอย่างไรที่จะผลิตการวิจัย การอุดมศึกษา นวัตกรรม ให้เป็นสัดส่วนที่พอเทียบเคียงได้กับการถูกจัดอันดับเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ต้องไปช่วยกันคิดให้หนักขึ้น ในการถอดบทเรียนมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อทำเป็นตำรา บทเรียน และวิจัยร่วมกัน น่าจะทำให้เรามีอะไรที่จะไปเสนอแก่โลกได้ ที่ผ่านมาการเรียนการสอน วิธีคิดหลักสูตรของไทยได้จากการไปนำของต่างชาติมาแปล หรือไปเรียนมาจากต่างประเทศแล้วสอนกันต่อๆ ไป แต่ถ้าเราคิดในระดับอุดมศึกษา แล้วชักชวนประเทศ CLMV หรือประเทศจีน อินเดีย มาเรียนรู้ มาร่วมกันทำให้เป็น Asian Cultural Heritage ได้ก็จะทำให้เกิดคุณค่าด้านมรดกทางวัฒนธรรมสมกับที่เราได้อันดับ 5 ของโลก ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมนี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงสิ่งที่จำต้องไม่ได้ อย่างน้ำใจไมตรี ความโอบอ้อมอารี ที่คนไทยถ่ายทอดต่อกันมาอย่างยาวนานด้วย เราต้องระดมสมอง ระดมสติปัญญาช่วยกันคิดเรื่องนี้ และหาคนที่เราเห็นว่าจะมาช่วยเราคิดได้ ในการทำเรื่องที่สร้างสรรค์ ต้องไม่ตั้งกฎเกณฑ์มาก ต้องปล่อยความคิดให้ไหลลื่น คิดไปข้างหน้า อย่าไปเทียบกับคนอื่น แล้วมองว่าเราสู้เขาไม่ได้ มันจะไม่ทำให้เกิดพลัง สอวช. ต้องหาคนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาช่วย และต้องมีการศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้ให้มากขึ้น” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก กล่าว

ในส่วนความคิดเห็นของที่ประชุมได้เสนอให้มีการหาแนวทางที่จะช่วยผลักดันให้มรดกทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้สามารถประยุกต์เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าได้ จะทำอย่างไรให้การพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศนำไปสู่การขับเคลื่อนบูรณาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศิลปะ เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลก ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของ สอวช. ที่ต้องมองหาแนวทางในเรื่องนี้ โดยในแง่ของแนวคิดเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมของไทยจะต้องขยายกว้างออกไป ทั้งในระดับเอเชีย ระดับอาเซียน ที่จะต้องร่วมมือกัน รวมถึงควรให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนและโครงการผลิตอาชีพที่เน้นด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์มากขึ้น ในการดำเนินงานหรือวางแผนการขับเคลื่อนในด้านนี้จึงต้องอาศัยทีมเขียนแผนที่มีรายละเอียดชัดเจน มีความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนต่อไปได้ ซึ่งข้อเสนอในประเด็นนี้ ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้รับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุมเพื่อนำไปดำเนินการต่อไป

สำหรับระเบียบวาระอื่นๆ ที่สำคัญ ดร. กิติพงค์ ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ สอวช. ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยได้สะท้อนให้เห็นภาพรวมการทำงานของ สอวช. ที่ทำงานตั้งต้นในระดับนโยบาย ก่อนจะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะมาขับเคลื่อนในเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การทำงานจึงต้องทำร่วมกันกับหลายหน่วยงาน ในลักษณะที่เป็นแพลตฟอร์ม โดยใช้เป้าหมายใหญ่ของประเทศมาเป็นทิศทางวางแผนในเชิงนโยบาย

ในการทำงานมีแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่าน 7 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) ระบบนิเวศนวัตกรรม เน้นเศรษฐกิจกระแสหลัก ทำอย่างไรให้ประเทศไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน 2) เศรษฐกิจบีซีจี  ซึ่งมีการเลือกหยิบยกบางเรื่องขึ้นมาทำ เช่น การขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน 3) การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก 4) พลิกโฉมการอุดมศึกษา 5) ปฏิรูประบบ อววน. ทั้งเรื่องของการปรับระบบงบประมาณ การบริหารจัดการทุน การปฏิรูปในเชิงของกฎหมาย กฎระเบียบ 6) ระบบนวัตกรรมสังคม ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และ 7) สร้างความเข้มแข็งของกระบวนการนโยบาย ซึ่งการทำงานผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปด้วย

ด้านผลงานสำคัญของ สอวช. ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและประเทศ แบ่งได้เป็น 8 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมาย เพื่อผลักดันให้ผู้ทำวิจัยได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัย และทำให้เกิดการต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์มากขึ้น 2) ระบบบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ และการจัดตั้งสำนักงานเร่งรัดการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันและการพัฒนาพื้นที่ (องค์การมหาชน) (รวพ.) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ สร้างรากฐานไปสู่อุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคต การพัฒนาพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานราก 3) แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงรองรับการลงทุนของประเทศ (วิศวกรและนักวิทย์ 20,000 คนต่อปี) รองรับการลงทุนมากกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี 4) BCG Policy and Strategy มุ่งเน้น 3 ด้านคือ การสร้างตลาดนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์, การเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศที่สร้างมูลค่าจากฐานสังคมคาร์บอนต่ำและการผลิตที่สะอาด, การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเศรษฐกิจจุลินทรีย์ 5) Strategic Foresight ด้านการอุดมศึกษา มีการจัดทำสมุดปกขาวระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว, การจัดทำยุทธศาสตร์กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล, การทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ 6) Thailand Higher Education and Innovation Policy Accelerator (THIPA) ที่ดำเนินงานมุ่งเน้นการพลิกโฉมอุดมศึกษา ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น 7) การวิจัยเชิงระบบ: นวัตกรรมสังคม มนุษย์ และศิลปกรรม และ 8) การสร้างการรับรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในสังคม ผ่านการใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น การจัดรายการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก Future talk by NXPO ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของ อววน. การผลิตสารคดีเพื่อการเรียนรู้ รายการ THE NEXT “คลื่นอนาคต” ร่วมกับ ThaiPBS เป็นต้น

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...