นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดตัวหนังสือ “เทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ทั่วไทย 2560” โดยกระทรวงร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและประชาชนส่งเสริมการจัดประเพณีและเทศกาลการแสดง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีของไทยอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ อาทิ งานช้างเมืองสุรินทร์, ประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี, ประเพณีบุญบั้งไฟ, ผีตาโขน, ประเพณี ยี่เป็ง เป็นต้น ที่ผ่านมาทุกปีประเทศไทยได้จัดเทศกาลร่วมกับประเทศอาเซียน อาทิ ประเพณีสงกรานต์, ลอยกระทง เป็นต้น ที่สำคัญรัฐบาลมีนโยบายประเทศไทย 4.0 เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยใช้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม การบริการที่มีมูลค่าสูงและเทคโนโลยีการออกแบบ 5 สาขาในการขับเคลื่อนประเทศไทย ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น มวยไทย และประเพณีในการสร้างรายได้ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ จึงรวบรวมกิจกรรมทางวัฒนธรรมทั้งเทศกาล การแสดงศิลปวัฒนธรรม และประเพณีในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติจาก 10,000 กิจกรรม โดยคัดเลือกเทศกาลและประเพณีที่มีความ โดดเด่น และมีความสำคัญ แบ่งเป็นงานสำคัญของชาติ งานสำคัญประจำจังหวัด งานประเพณีและกิจกรรมสำคัญ จำนวน 178 รายการ ที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อจัดทำเป็น “หนังสือเทศกาล การแสดง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีทั่วไทย 2560”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับเนื้อหาภายในเล่มมีรายละเอียดโดยย่อ ภาพกิจกรรมของเทศกาล การแสดง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทย ในแต่ละเดือนรวมทั้งหมด 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2560 พร้อมเบอร์ติดต่อหน่วยงานที่ดูแลและจัดกิจกรรมโดยมีงานเทศกาลที่มีความโดดเด่นน่าชม อาทิ จังหวัดสุโขทัย มีการแสดงแสง สี เสียง ตำนานเมืองสุโขทัย เล่าเรื่องเมื่อครั้งเป็นราชธานีผ่านการแสดง แสง สี เสียง และจำลองตลาดโบราณ หรือตลาดปสาน จำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน 2560 ทุกวันศุกร์แรกของเดือน จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีงาน “ยอยศยิ่ง อยุธยามรดกโลก” วันที่ 27 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นงานเฉลิมฉลองที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็น “มรดกโลก”
จังหวัดอุบลราชธานีมีงาน “เทศกาลแห่เทียนพรรษา” และอัญเชิญเทียนพระราชทานวัดใน 25 อำเภอ ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 โดยมีการประกวดเทียนพรรษาด้วย รวมทั้ง “ประเพณีทอฝ้ายเป็นสายบุญจุลกฐิน ถิ่นอุบล คนมีธรรม” ในวันที่ 26-28 ตุลาคม 2560 มีการแสดงนิทรรศการ การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน การอนุรักษ์สืบสานอาชีพท้องถิ่นผ่านฐานการเรียนรู้ “จากเมล็ดฝ้ายสู่ไตรจีวร” ให้ความรู้ตั้งแต่ปลูกฝ้าย เก็บเกี่ยว ถักทอเส้นใยให้เป็นผืนผ้า ฟอกย้อมสี กระทั่งตัดเย็บมาเป็นจีวร และ “กิจกรรมถนนสายข้าว”
จังหวัดปัตตานี จัดงานมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน “กตัญญูคู่ฟ้ามหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี” ในวันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2560 มีมหรสพ ได้แก่ งิ้ว มโนราห์ หนังตะลุง พิธีหามเกี้ยวมหามงคล พิธีเปิดงานมหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พิธีหามเกี้ยวองค์พระลุยข้ามแม่น้ำปัตตานี และพิธีลุยไฟ การแข่งขันเชิดสิงโตบนเสาดอกเหมยชิงแชมป์อาเซียน รวมถึงการแสดง แสง สี เสียง และสื่อผสมประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ทั้งนี้ การจัดทำหนังสือเล่มนี้ เพื่อเผยแพร่เป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคและของชาติ ที่สำคัญเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น วธ.จะแจกจ่ายหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ อาทิ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรมและท่องเที่ยว ห้องสมุดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้จัดทำเป็นอีบุ๊ค เพื่อให้หน่วยงานต่างๆด้วย