กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (29 ต.ค.64) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคใต้ แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.อุตรดิตถ์ 49 มิลลิเมตร // กาฬสินธุ์ 65 มิลลิเมตร // ชัยนาท 49 มิลลิเมตร // กาญจนบุรี 64 มิลลิเมตร // สระแก้ว 31 มิลลิเมตร และนราธิวาส 91 มิลลิเมตร โดยแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 61,359 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 75 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 54,230 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 17 แห่ง บริเวณเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนแม่มอก เขื่อนลำตะคอง อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำบึงบอระเพ็ด เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ และบึงหนองหารกุมภวาปี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้บริเวณ จ.ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ แม่น้ำชี บริเวณ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น และยโสธร // แม่น้ำมูล บริเวณ จ.นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี และแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ จชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามประเมินสถานการณ์น้ำและพิจารณาปรับแผนการบริหารจัดการน้ำเร่งคลี่คลายน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันพบฝนตกในพื้นที่ตอนบนลดลงส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำ แม่น้ำต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง กอนช. จึงให้ สทนช. กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันหารือเร่งทบทวนแผนการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนกระเสียว โดยปรับลดการระบายน้ำให้น้อยที่สุดไม่ให้ลงมาซ้ำเติมในพื้นที่น้ำท่วมขังปัจจุบัน ขณะเดียวกันเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งที่จะถึงนี้ให้มากที่สุด แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบกับกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และคลองต่างๆด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาน้อยที่สุด และภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด พร้อมเร่งสูบน้ำและวางแผนการเร่งระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังต่อเนื่อง รวมทั้ง ทุ่งรับน้ำเพื่อให้น้ำไหลกลับเข้าสู่ลำน้ำสายหลักก่อนระบายออกสู่ทะเลให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายโดยเร็ว