ราคายางปี 60 เพิ่มร้อยละ 24 เหตุจีนกระตุ้นเศรษฐกิจลดภาษีรถยนต์ ยอดใช้ยางพุ่ง สร้างเม็ดเงินเพิ่มปีระกา14,600 ล้านบาทเยียวยาเศรษฐกิจภาคใต้สร่างไข้น้ำท่วมเร็วกว่าคาด แนะรัฐฉวยโอกาสทยอยขายสต็อก เน้นลงทุนอุตสาหกรรมปลายน้ำ สร้างเสถียรภาพราคายางระยะยาว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน ปี 2560 ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ 60.0 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากราคาเฉลี่ย 48.4 บาท/กก.ปีก่อน เหตุจากจีนใช้นโยบายลดภาษีรถยนต์ขนาดเล็กเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จากเดิมร้อยละ 10 เหลือเพียงร้อยละ 5 เริ่มเดือนตุลาคม 2558 สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2559 ทำให้ยอดขายรถยนต์ในจีนปีที่ผ่านมาทะลุ 24 ล้านคันเป็นครั้งแรก หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 จากปีก่อนหน้า เร่งการใช้ยางพาราเพื่อผลิตล้อยางรถยนต์ของโรงงานในจีน จนระดับสต็อกยางภาคเอกชนจีนเมืองชิงเต่าลดลงอย่างต่อเนื่องถึงระดับต่ำสุดประมาณ 47,000 ตัน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากระดับสูงสุดที่ 230,000 ตันเมื่อต้นปี ทำให้ราคายางพาราซึ่งเคยขายได้ที่ราคาเฉลี่ย 35 บาท/กก.(3 โล 100) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2559 ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงขณะนี้ สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ดันราคายางให้สูงอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยปี 2559 เฉลี่ยอยู่ที่ 46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.0 จากราคาช่วงต้นปี และในปี 2560 TMB Analytics คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20.0 จากปีก่อน จึงเป็นแรงส่งให้ราคายางทะยานอย่างต่อเนื่อง
จากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกื้อหนุนทั้งความต้องการยางจากจีนและราคาน้ำมัน ผนวกกับปัจจัยภายในประเทศ คือนโยบายควบคุมปริมาณยางพาราของภาครัฐที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องตลอดระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตยางของไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 4.5 ล้านตันต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้และฝนตกต่อเนื่องภาคใต้ทำให้ปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติลดลง 281,100 ตัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของปริมาณผลผลิตทั้งประเทศทั้งปี ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมระยะสั้นให้ราคายางพาราพุ่งต่อเนื่อง โดยราคายางแผ่นดิบล่าสุดอยู่ที่ 87.3 บาท/กก. สถานการณ์ราคาขณะนี้เรียกว่าเป็น “หนังคนละม้วน” เมื่อเทียบกับสถานการณ์ต้นปีก่อน
ราคายางที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้เพิ่มขึ้นเกือบ 15,000 ล้านบาทจากปีก่อน และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวจากน้ำท่วมได้เร็วยิ่งขึ้น ผ่านการเร่งจับจ่ายใช้สอยของชาวสวนยาง ซึ่งเป็นฐานกำลังบริโภคที่สำคัญของเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ให้กลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ภาครัฐสามารถทยอยระบายสต็อกยางจากการใช้มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางในอดีต ไม่ให้เป็นปัจจัยกดดันราคายางในอนาคตอีกด้วย