นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่สหรัฐฯ ได้ประกาศกฎหมายว่าด้วยการนำเข้าสินค้าประมงเพื่อคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) ซึ่งใช้บังคับกับการนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อประเมินกฎระเบียบข้อบังคับการทำการประมงเชิงพาณิชย์ของประเทศที่ส่งสินค้าประมงไปยังสหรัฐฯ ว่าเพียงพอที่จะป้องกันผลกระทบจากการประมงไม่ให้เกิดการตายหรือบาดเจ็บรุนแรงของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม เช่น โลมา วาฬ พะยูน ฯลฯ หากมีมาตรการไม่เพียงพอและเป็นการประมงที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ประเทศคู่ค้าดังกล่าวอาจเข้าข่ายเสี่ยงต่อการถูกห้ามนำเข้าสินค้าประมงที่ได้จากการประมงนั้นๆ ทั้งนี้สหรัฐฯเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อันดับ 1 ของประเทศไทย ในปี 2563 ประเทศไทยส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.99 หมื่นล้านบาท จึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ประกาศใช้กฎหมาย MMPA เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 และกำหนดระยะเวลาผ่อนผัน 5 ปี เพื่อให้ประเทศคู่ค้าได้มีการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ MMPA และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
โดยในช่วงระหว่างการผ่อนผัน 2560-2565 ประเทศผู้ส่งออกสินค้าประมงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้มีการจัดส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลสถานภาพสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมในพื้นที่ทำการประมง ข้อมูลด้านการทำการประมง กฎระเบียบและข้อบังคับด้านการทำประมงเชิงพาณิชย์ ข้อมูลระบบทะเบียนและการอนุญาตทำการประมง และมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายหรือลดการบาดเจ็บของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งเป็นสัตว์น้ำพลอยจับ (Bycatch) จากการทำประมง ฯลฯ โดยสหรัฐฯ จะประเมินจากข้อมูลดังกล่าวว่า ประเทศผู้ส่งออกมีการใช้มาตรการลดผลกระทบจากการทำประมงและมาตรการคุ้มครองสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมที่เพียงพอเทียบเท่ากับระบบของสหรัฐฯ (Comparability findings) หรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าไม่เพียงพอหรือไม่เทียบเท่ากับระบบของสหรัฐฯ ประเทศเหล่านั้นจะไม่สามารถส่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไปยังสหรัฐฯ ได้
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยในระหว่างปี 2560 – 2563 ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมาย MMPA พร้อมจัดทำรายงานข้อมูลต่อสหรัฐฯ จำนวน 5 ครั้ง อย่างต่อเนื่องทุกปี และในปี 2563 คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ นำโดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งกำกับดูแลด้านการประมงของประเทศทั้งระบบ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคประชาชน และมีการรายงานข้อมูลเพื่อเสนอต่อสหรัฐฯ และเพื่อให้การรายงานรอบสุดท้ายที่ต้องดำเนินการภายใน 30 พฤศจิกายน 2564 ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 3 คณะ ได้แก่
1) คณะอนุกรรมการป้องกัน แก้ไขปัญหา และประสานงานการปฏิบัติเกี่ยวกับผลกระทบของการ ทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ และรองอธิบดีกรมประมงที่ได้รับมอบหมาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
2) คณะอนุกรรมการวิชาการเพื่อจัดทำข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขปัญหาผลกระทบของการ ทำการประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม มีปลัดกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานอนุกรรมการ และรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ได้รับมอบหมาย เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
3) คณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงต่อสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม มีเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน เป็นประธานกรรมการ รองอธิบดีกรมประมงที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการ
การดำเนินงานของทั้ง 3 คณะ มีความก้าวหน้ามาเป็นลำดับ โดยคณะอนุกรรมการฯ 1) และ 2) ได้มีการจัดทำข้อมูลด้านการทำการประมง และมาตรการด้านการทำประมงของประเทศไทย ข้อมูลการประเมินทรัพยากรสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม สถานภาพ ชนิด จำนวนประชากร สถิติการตาย และการบาดเจ็บของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และได้จัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ได้สนับสนุนข้อมูลเหล่านี้ให้กับคณะกรรมการเฉพาะกิจเจรจาฯ เพื่อใช้สำหรับการมีปฏิสัมพันธ์และชี้แจงทำความเข้าใจกับฝ่ายสหรัฐฯไปพร้อมกันด้วย และตามแผนการดำเนินการนี้ ประเทศไทยจะสามารถรายงานข้อมูลได้ทันตามกำหนด 30 พฤศจิกายน 2564 เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบการด้วย ทั้งนี้สหรัฐอเมริกาจะใช้ผลจากการประเมินข้อมูลรายงานในครั้งนี้ เพื่อใช้บังคับต่อการนำเข้าสินค้าตามมาตรการ MMPA ในปี 2566
สำหรับมาตรการ MMPA ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องขับเคลื่อนดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะ เพื่อใช้โอกาสในช่วงระยะเวลาที่สหรัฐฯ ผ่อนผัน ในการจัดทำและปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติและมาตรการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม การวางระบบรวบรวมข้อมูลสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง การพัฒนากฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรการที่เกี่ยวข้องในการลดการตายและการบาดเจ็บของสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง เพื่อให้สอดรับกับกฎหมาย MMPA ของสหรัฐฯ ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป...รองอธิบดีกรมประมง กล่าว