ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมส่งมอบ ศูนย์การเรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” ให้แก่จังหวัดแพร่ โดยได้รับเกียรติจาก นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ปลัดจังหวัดแพร่ พร้อมผู้แทนชุมชน เป็นผู้แทนรับมอบ ภายใต้การดำเนินโครงการขยายผลเพิ่มศักยภาพชุมชนไม้มีค่า ในพื้นที่ต้นแบบการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งมอบเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและเกษตร และมีการจัดกิจกรรมใส่เชื้อเห็ดในกล้าไม้ ปลูกต้นไม้ในแปลง การสาธิตและเยี่ยมชมแปลงต้นแบบการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โอกาสนี้ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมผู้บริหาร ผู้นำชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม ในวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2564 ณ ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ตำบลนำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ดำเนินงานวิจัยและขยายผลโครงการดังกล่าว ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยโดย วช. ในพื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.นำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เดิมประสบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร มีการเผาป่าและวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตร มีการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชโดยไม่จำกัด ส่งผลกระทบทำให้แหล่งอาหารป่าในธรรมชาติลดน้อยลงและมีความผันแปรตามสภาพอากาศ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดมลพิษอากาศและหมอกควัน รวมทั้งการปนเปื้อนของสารปราบศัตรูพืชในแหล่งน้ำ จากปัญหานี้ วว. จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ -แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ดำเนินงานวิจัย ส่งเสริม และถ่ายทอดองค์ความรู้ การปลูกป่าและพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ด เพื่อสร้างแหล่งอาหารและรายได้ในชุมชน รวมทั้งสร้างเครือข่าย ขยายความรู้ และขยายผล
ทั้งนี้ วว. ดำเนิน “โครงการขยายผลเพิ่มศักยภาพชุมชนไม้มีค่าในพื้นที่ต้นแบบการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา” พัฒนาต่อเนื่องจากการดำเนิน “โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมต้นแบบของการปลูกป่าแบบบูรณาการ เพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน” โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี การผลิตกล้าไม้และเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในชุมชน เพื่อการปลูกป่า และมีผลผลิตจากเห็ดป่าที่สร้างมูลค่า มีผลผลิตด้านการเกษตร (เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า) และพืชผัก ผลไม้ (กาแฟ อะโวคาโด มะม่วง ขนุน) ตลอดจนการปลูกไม้มีค่า โดยใช้ระบบการปลูกแบบผสมผสาน (วนเกษตร) ระหว่างป่าไม้ เห็ดป่า และพืชเกษตร ช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์ พร้อมกับการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มากขึ้น
เห็ดป่าไมคอร์ไรซา (Mycorrhizal fungi) เป็นเห็ดป่าที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน เป็นต้น เกิดจากราที่อาศัยอยู่กับรากของต้นไม้ในป่า ซึ่งรากลุ่มนี้ไม่ใช่ราที่ก่อโรคในพืช หากแต่เป็นราที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโต โดยการเจริญและการเกิดดอกของเห็ดไมคอร์ไรซาจำเป็นต้องพึ่งพากับต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัย โดยความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดป่ากับต้นไม้เป็นแบบเกื้อกูล (Symbiotic)
ในปี 2562-2563 ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน พะเยา ลำปาง เพชรบูรณ์ และปี 2564 ดำเนินการในจังหวัดเชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว และสงขลา โดยเป็นพื้นที่ต้นแบบในทุกจังหวัดๆ ละ 1 แห่ง มีผลดำเนินงานอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกป่าร่วมกับการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซากินได้ให้แก่เกษตรกร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐจำนวน 1,000 คน ในพื้นที่ 13 จังหวัด สนับสนุนกล้าไม้มีค่าและพืชเศรษฐกิจที่ใส่เชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซาจำนวน 20,000 ต้น ก่อให้เกิดพื้นที่สีเขียว 100 ไร่ รวมทั้งจัดทำคู่มืออบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับเผยแพร่ต่อสาธารณชน จำนวน 6,500 เล่ม จัดทำพื้นที่แปลงตันแบบการปลูกไม้เศรษฐกิจแบบผสมผสานร่วมกับการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซากินได้ เพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิตให้เกษตรกรที่นำเชื้อเห็ดไปใส่ต้นไม้ และเพิ่มมูลค่าของกล้าไม้เป็น 2 เท่า โดยการใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในกล้าไม้ก่อนการจำหน่าย และพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ จำนวน 2 แห่ง ในชุมชนบ้านบุญแจ่ม จังหวัดแพร่ ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้เห็ดป่าชุมชนต้นแบบ และศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบชุมชนไม้มีค่า โดยมีผู้เข้ามาศึกษาดูงานแล้วประมาณ 1,000 คน
การประเมินผลผลิตและรายได้ของเห็ดที่เพาะร่วมกับการปลูกต้นไม้ของโครงการ พบว่า เห็ดตับเต่าและผลผลิตจากไม้ผล จะเริ่มให้ผลผลิต ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป จะก่อให้เกิดรายได้ ประมาณ 1,336,800 บาท/ปี ส่วนเห็ดป่าไมคอร์ไรซาอื่น เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก ที่เพาะร่วมกับไม้ป่าเศรษฐกิจ จะเริ่มให้ผลผลิต หลังจากปีที่ 4 เป็นต้นไป จะก่อให้เกิดรายได้ ประมาณ 684,800 บาท/ปี นอกจากนั้นเกษตรกรยังจะมีรายได้อื่นๆ จากการขายผลผลิตของไม้ผลช่วงหลังจากปีที่ 4 และสามารถขายผลผลิตจากเนื้อไม้ของไม้ป่าเศรษฐกิจหลังจากปีที่ 15 เป็นต้นไป
“...การนำเห็ดไมคอร์ไรซามาใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่งผลให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์มากกว่าพืชที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา 2-3 เท่า และเป็นกลยุทธที่นำมาใช้ชักชวนให้เกษตรกรปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างได้ผล เนื่องจากเกษตรกรคาดหวังถึงผลผลิตของเห็ดป่าที่เพาะร่วมกับต้นไม้มากกว่าผลผลิตจากไม้ในรูปของเนื้อไม้ กิจกรรมส่งเสริม อบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้โครงการนี้ ประกอบด้วย การเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซากินได้ร่วมกับการปลูกไม้มีค่าและพืชเศรษฐกิจ การผลิตหัวเชื้อเห็ดป่าไมคอร์ไรซา การจัดทำพื้นที่ต้นแบบด้านการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาร่วมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจและพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ศึกษาดูงานในท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายและวิทยากรตัวคูณ ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อต่อยอดขยายผลโครงการ โดยนำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มาใช้เป็นเครื่องมือประกอบการดำเนินการ โดยมุ่งหวังพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนา วว. ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม โทร. 0 2 577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : sujitra@tistr.or.th