พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ระบุว่า การร่วมประชุมวันนี้ เพื่อเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับทุกประเทศ และทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการแก้ปัญหาครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เพราะภารกิจนี้คือความเป็นความตายของโลกและอนาคตของลูกหลานของพวกเราทุกคน
ในปัจจุบันไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกในปริมาณเพียงประมาณร้อยละ 0.72 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ไปร่วมการประชุมสุดยอดเรื่องภูมิอากาศของสหประชาชาติที่กรุงปารีสเมื่อปี 2015 โดยไทยอยู่ในประเทศกลุ่มแรกที่ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีของความตกลงปารีส
คำมั่นสัญญาของไทย มิใช่คำมั่นที่ว่างเปล่า ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ปฏิบัติตามคำมั่นทุกประการที่ให้ไว้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการดำเนินการอย่างแข็งขันภายในประเทศ
ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้กำหนดเป้าหมาย NAMA (นา-มา) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงานและขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 7 ภายในปี 2020 แต่ทว่าในปี 2019 ไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้วร้อยละ 17 ซึ่งเกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้มากกว่า 1 ปี
นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC (เอ็น ดี ซี) ฉบับปรับปรุงปี 2020 และจัดทำแผนงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ล่าสุดไทยได้ส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำให้กับ UNFCCC (ยู เอ็น เอ็ฟ ทริป เปิ้ล ซี) โดยไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดทำยุทธศาสตร์นี้
วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065 และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050
ขณะนี้ประเทศไทยนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ บี ซี จี มาเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ และไทยจะนำแผนนี้มาเป็นวาระหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าหมดเวลาสำหรับความล้มเหลวแล้ว และโลกกำลังบอกเราว่าการประทุษร้ายธรรมชาติต้องยุติเพียงเท่านี้ เพื่อการดำรงไว้ซึ่งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และอากาศที่ทุกคนต้องหายใจร่วมกัน ดังนั้น มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิดและมีความอดทนอย่างสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา ผมขอย้ำว่าเราทุกคนไม่มี แผนสอง ในเรื่องการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่สอง ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราเหมือนโลกนี้อีกแล้ว