ชาวนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์แจงบัญชีรายจ่ายทำนาต้นทุนสูง เฉลี่ยไร่ละกว่า 5,600 บาท ขณะที่ขายข้าวได้แค่กิโลกรัมละ 5 บาท ผลผลิตข้าวไร่ละ 400 กิโลกรัม ได้เงินไร่ละ 2,000 บาท ขาดทุน 3,600 บาท ระบุราคาข้าวที่ตกต่ำสุดเหมือนฝันร้าย หวังจะขายข้าวชำระค่าปุ๋ยเคมีและหนี้ ธ.ก.ส.ก็ต้องผิดหวัง น้ำตาตกใน อนาคตชาวนามืดมน เรียกร้องรัฐบาลช่วยเหลือ โดยเพิ่มราคารับซื้อข้าวสูงขึ้นอย่างน้อยกิโลกรัมละ 8 บาท
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 จากการติดบรรยากาศในฤดูเก็บเกี่ยวและขายผลผลิตข้าว ของชาวนาที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่าเริ่มเก็บเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ใช้น้ำชลประทานลำปาว เพราะได้รับน้ำอย่างทั่วถึง จึงได้ทำนาต้นปี โดยมีการเพาะปลูกข้าวอายุสั้น หรือคือข้าวเหนียว กข.22 เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ขณะที่ข้าวนาปีที่ใช้ข้าวพันธุ์ กข.6 จะเริ่มเก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือนและแบ่งไปจำหน่าย หวังเงินรายได้เลี้ยงครอบครัว ใช้หนี้ปุ๋ยเคมี และชำระหนี้ ธ.ก.ส.
นายปี วรรณศรี อายุ 69 ปี เกษตรกรบ้านแสนสำราญ หมู่ 4 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่มีเพื่อนชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเหนียวพันธุ์ กข.22 ไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ได้ราคา ก.ก.ละ 5 บาท ถือเป็นข่าวร้ายและฝันร้ายให้กับตนและคนที่ประกอบอาชีพชาวนาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการประกอบอาชีพทำนา ซึ่งถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาตินั้น เป็นอาชีพที่หนักและลำบาก โดยเฉพาะลงทุนสูงมาก แต่ผลตอบรับกลับไม่คุ้มค่า เหตุต้นทุนการลิตสูงลิ่ว ราคารับซื้อข้าวตกต่ำ ต่างกันราวฟ้ากับดิน ไปขายข้าวกลับมามือเปล่า ตกอยู่ในอาการน้ำตาตกใน เพราะขายข้าวขาดทุน
นายปีกล่าวอีกว่า สำหรับตนมีพื้นที่ทำนา 10 ไร่ ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำท้ายเขื่อนลำปาวเป็นหลัก โดยปลูกทั้งข้าวเหนียวพันธุ์ กข. 22 และ กข.6 ทุกปีที่ผ่านมาทำนาหว่าน เพราะประหยัดต้นทุนค่าจ้างแรงงานถอนกล้าและปักดำ ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 400 ก.ก.โดยปีที่ผ่านมานำข้าวเปลือกไปขายได้ ก.ก.ละ 6 บาท ปรากฏว่าขาดทุน เนื่องจากถูกพ่อค้าคนกลางหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปน สำหรับการทำนาปีนี้ เพื่อป้องกันข้าวปลอมปน ที่จะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ตนจึงได้ทำนาดำ เพื่อเพิ่มผลผลิตและคัดข้าวปลอมปนได้ง่าย
นายปีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่รอการเก็บเกี่ยว ตนจึงหมั่นสำรวจนาข้าวที่กำลังได้อายุเก็บเกี่ยว โดยคัดแยกพันธุ์ข้าวที่ปลอมปนออก เพื่อตัดปัญหาถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา และหวังว่าจะได้ราคาสูงขึ้น แต่จากการที่ราคารับซื้อข้าวตกต่ำ เพียง ก.ก.ละ 5 บาท ก็จึงเหมือนฝันร้าย แทบจะทำให้ตนหมดแรงเลยทีเดียว เนื่องจากทำนาปีนี้ลงทุนสูงมาก หากคำนวณอัตราใช้จ่ายต่อไร่สูงถึง 5,000-6,000 บาททีเดียว โดยแยกเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ 600 บาท ค่ารถไถ 600 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 1,500 บาท ค่าบริการสูบน้ำ 1,000 บาท ค่าแรงงานถอนกล้าปักดำ 500 บาท ค่ารถเกี่ยว 600 บาท รวม 4,800 บาท และบวกค่าขนส่งนำข้าวไปขายอีกเที่ยวละ 800 บาท รวมค่าใช้จ่ายทำนาปีไร่ละประมาณ 5,600 บาท หากผลผลิตข้าวได้ไร่ละ 400 ก.ก.ขาย ก.ก.ละ 5 บาท ก็จะได้เงิน 2,000 บาท ขาดทุน 3,600 บาท ทั้งนี้ตนทำนา 10 ไร่ สรุปว่าลงทุนไปประมาณ 56,000 บาท ได้ผลผลิตข้าว 4,000 ก.ก.ราคา ก.ก.ละ 5 บาท ขายข้าวได้ 20,000 บาท ขาดทุน 36,000 บาท
“ปีที่ผ่านมาขายข้าวได้ ก.ก.ละ 6 บาทยังขาดทุน ปีนี้หากราคาข้าวยังตกต่ำเพียง ก.ก.ละ 5 บาท ขาดทุนยับเยินแน่นอน ผลสุดท้ายก็คงต้องยอมผ่อนค่าปุ๋ยเคมี รวมทั้งค้างชำระหนี้และดอกเบี้ย ธกส. เพราะไม่มีเงินที่จะนำไปชำระ จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาล ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ อย่างน้อย ก.ก.ละ 8 บาท เพื่อชาวนาที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้มีกำไรจากการทำนาบ้าง” นายปีกล่าวในที่สุด
ด้านนายธนาพล ธรรมโนขจิต ผู้จัดกลางตลาดกลางข้าวและพืชไร่ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการรับซื้อข้าวเปลือกส่วนมากจะเป็นข้าวเปลือกเหนียว กข. 22 ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์สำหรับเพาะปลูกนาปรัง หรือข้าวฤดูแล้ง โดยข้าวเกี่ยวสดรับซื้อ ก.ก.ละ 5.50 - 6 บาท ตากแห้ง ก.ก. 7.80 - 8 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกเจ้า กข. 15 เกี่ยวสดรับซื้อ ก.ก.ละ 8 -8.50 บาท ตากแห้ง ก.ก.ละ 10.50 -11 บาท ซึ่งราคารับซื้อผลผลิตข้าวทั้ง 2 ชนิดจึงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ตามคุณภาพข้าว ซึ่งปัจจุบันข้าวทั้ง 2 ชนิดเกษตรกรใกล้จะนำมาขายหมดแล้ว
สำหรับข้าวนาปี ทั้งข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105 กข. และข้าวเปลือกนาปีเหนียว กข 6. ผลผลิตยังไม่เก็บเกี่ยว คาดว่าเกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวและนำข้าวมาขายประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนราคารับซื้อนั้นยังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่คาดว่าราคาจะถูกลดลงอีกกว่าปีที่ผ่านมาตันละ 1,000 บาท อย่างไรก็ตามอยากแนะนำให้เกษตรกรก่อนเก็บเกี่ยวให้ตัดข้าวปลอมปนออก และควรตากให้แห้งก่อนค่อยนำมาขาย จึงจะมีคุณภาพและมีราคาสูงขึ้น อีกทั้งในช่วงนี้ราคาข้าวต่ำ เกษตรกรควรที่จะชะลอการขายออกไปก่อน รอให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้นแล้วจึงนำมาขาย และต้องหาสถานที่ตากให้แห้ง
ขณะที่นายศิริพงษ์ วิวัฒน์เกษมชัย พาณิชย์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ราคาเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต2564/2565 โดยได้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและชดเชยส่วนต่างข้าวแต่ละชนิดดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 10,864.23บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 4,135.77 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 10,407.75 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,595.25 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 9,947.87 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,052.13 บาท,ข้าวเปลือกเจ้า 8,065.87บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,934.62 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 7,662.53 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 4,337.47 บาท
สำหรับการโอนเงินส่วนต่างงวดแรกตามโครงการ ธ.ก.ส.จะดำเนินการได้ภายหลังจาก ครม.ได้รับทราบผลการหารือเกี่ยวกับอัตราต้นทุนเงินของ ธ.ก.ส.ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และธ.ก.ส.ตามมติครม.เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดให้มีการหารือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้นำเสนอเข้าสู่การประชุมครม.เพื่อทราบภายในสัปดาห์หน้า
ทีมข่าวกาฬสินธุ์