กอนช. ติดตามการปรับลดการระบายน้ำจากอ่างฯใหญ่ เพื่อลดผลกระทบท้ายน้ำ ตามข้อสั่งการรองนายกฯประวิตร และเร่งรัดการระบายน้ำออกจาก 11 ทุ่งลุ่มต่ำ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ 1 พ.ย. พร้อมเร่งระบายน้ำท่วมขังในทุกพื้นที่ลงทะเลโดยเร็ว ทั้งนี้ในระหว่าง 5-11 พ.ย. นี้ น้ำทะเลหนุนสูง อาจมีผลต่อการระบายน้ำบ้าง
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. ได้ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยอ่างฯที่ปรับลดการระบายน้ำแล้ว มีดังนี้ ลุ่มน้ำท่าจีน ได้แก่ เขื่อนกระเสียว
ปรับลดลงเหลือ 0.8 ล้าน ลบ.ม./วัน ลุ่มน้ำชี-มูล ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ปรับลดลงเหลือ 28 ล้าน ลบ.ม./วัน เขื่อนลำตะคอง
งดการระบายน้ำ เขื่อนมูลบน ปรับลดลงเหลือ 1.44 ล้าน ลบ.ม./วัน เขื่อนลำนางรอง ปรับลดลงเหลือ 0.1 ล้าน ลบ.ม./วัน
ทั้งนี้ ในส่วนของอ่างฯที่ยังไม่สามารถปรับลดอัตราการระบายได้ในขณะนี้ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
เขื่อนทับเสลา เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำแชะ เป็นต้น เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเพิ่มเติมจากฝนตกในพื้นที่
จึงจำเป็นต้องปรับอัตราการระบายให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เกิดความสมดุลทั้งปริมาณน้ำไหลเข้า-ออก และพิจารณาเรื่องการรักษาความมั่นคงของอ่างฯควบคู่ไปด้วย ซึ่ง กอนช. ได้มอบหมายหน่วยงานติดตามประเมินสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กอนช. ยังได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 11 ทุ่ง ให้เป็นไป
ตามแผน ตามที่พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเมื่อคราวประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการ
ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีทุ่งที่ได้เริ่มระบายน้ำออกตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 64 ได้แก่ ทุ่งเจ้าเจ็ด และทุ่งบางระกำ ในขณะที่ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน และทุ่งรับน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา จะเริ่มระบายน้ำออกในวันที่ 10 พ.ย. 64 ส่วนทุ่งป่าโมกและทุ่งผักไห่ จะระบายน้ำในวันที่ 15 พ.ย. 64 ตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำใน 11 ทุ่งลุ่มต่ำ มีจำนวน 2,061 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 121 %
โดยปริมาณน้ำลดลงจากวานนี้ (4 พ.ย. 64) 27 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ แผนการระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำจะสิ้นสุดลงภายในสิ้นปีนี้
ยกเว้นทุ่งรับน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ซึ่งมีแผนจะระบายน้ำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ม.ค. 65
“ภาพรวมการคลี่คลายของสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 31 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์
ในพื้นที่อีก 12 จังหวัด 37 อำเภอ 315 ตำบล ได้แก่ จ.ขอนแก่น หนองบัวลำภู นครราชสีมา มหาสารคาม ลพบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ระดับน้ำลดลง ในขณะที่ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ กอนช.
ได้บูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเร่งระบายน้ำท่วมขังในแต่ละพื้นที่ให้ลดระดับลงโดยเร็ว ทั้งการกักเก็บน้ำไว้ในอ่างฯ
ซึ่งยังคงมีศักยภาพรองรับปริมาณน้ำโดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของตัวอ่างฯ จัดทำแผนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ
ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตามแผนแล้ว พร้อมเร่งระบายน้ำท่วมขังออกสู่ทะเลโดยเร็ว” ดร.สุรสีห์ กล่าว
สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน เนื่องจากปัจจุบันมีฝนตก ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนสูงขึ้น กรมชลประทานได้พิจารณาปรับลดการรับน้ำ-ระบายน้ำ ผ่านประตูระบายน้ำต่าง ๆ รวมทั้งหน่วงน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ ผันน้ำไปยังคลองทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกที่ยังสามารถรับน้ำได้ นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 5-11 พ.ย. นี้ อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีนลดลง และน้ำมีระดับเพิ่มสูงขี้นได้ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกแนวคันกั้นน้ำที่ได้รับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง เฝ้าระวังเตรียมป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ด้วย