นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของพืชสมุนไพรไทย ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตพืชสมุนไพรและเวชภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของโลก เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศในยุคโควิดและ “post COVID-19” ขณะนี้ มีตัวเลขรายงานว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเครื่องเทศในตลาดโลก ประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท และในปีนี้ คาดว่ายอดรวมตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่เติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว รับอานิสงส์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทั้งนี้ หากเจาะจงเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาและกัญชงในตลาดโลก ประมาณการว่ามูลค่าตลาดสำหรับประเทศไทย จะอยู่ที่ 660 ล้านดอลาร์สหรัฐ และในปี 2024 จะก้าวกระโดดไปเป็น 2.5 พันล้านดอลาร์สหรัฐ มีตลาดหลักได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ซึ่ง 2 ตลาดนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 80% ของความต้องการในตลาดโลก
เพื่อสอดรับกับเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการ โครงการหลักๆ อาทิ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ตามมาตรฐานGAP ห้าหมื่นกว่าไร่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกร และโครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่พืชสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง ใน 22 จังหวัด เกษตรกร 1,565 ราย รวมพื้นที่จำนวน 7,913 ไร่ ลงนามข้อตกลงเพื่อการแปรรูปสมุนไพรกับโรงพยาบาลใหญ่ในพื้นที่นั้น ๆ เช่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศ โรงพยาบาลพนา โรงพยาบาลตระการพืชผล เรียกว่า ผลิตที่ไหนแปรรูปที่นั้น สำหรับปี 2565 จะเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคการเกษตรในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ที่ครอบคลุมคลัสเตอร์พืชสมุนไพรและคลัสเตอร์พืชมูลค่าสูง สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และยุคโควิด-19
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเวชภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ เป็นฐานการผลิตยาจากกัญชา โดยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยมีหลายหน่วยงานที่บูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกัญชาทางการแพทย์ เช่น ศูนย์วิจัยกัญชาทางการแพทย์ระหว่างประเทศ (IMCRC) คลินิกกัญชาทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในหลายประเทศ และหลายรูปแบบ เพื่อรักษาความเจ็บป่วย อาทิ โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง รักษาภาวะปวดประสาทส่วนกลางที่ใช้วิธีการรักษาอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล บรรเทาหอบหืด รักษาภาวะเบื่ออาหาร รักษาริดสีดวงหรือมะเร็งปากมดลูกโดยการเหน็บ อนึ่ง ช่วงที่ผ่านมาพบยอดประชาชนเข้าใช้บริการกัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในทุกวันมีการขออนุญาตนำกัญชาทางการแพทย์ไปใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า และทางกระทรวงฯ ยังมีโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ดำเนินการร่วมกับวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชาทางการแพทย์ โดยจะเก็บผลผลิต ต้นกัญชา และชิ้นส่วนดอกกัญชา เพื่อนำส่งกระทรวงสาธารณสุข/สถานพยาบาลนำไปสกัดเป็นยารักษาโรคต่อไป
“นโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนของรัฐบาลดังกล่าว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ดังเห็นได้จากการรวมตัวของเกษตรกรเพื่อปลุกพืชสมุนไพรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และการจดทะเบียนของนิติบุคคลธุรกิจผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจัดตั้งใหม่ สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดใน 9 เดือนตั้งแต่มกราคม-กันยายน 2564 มีจำนวน 117 ราย เพิ่มขึ้น 69.56% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 และในปีนี้ ช่วง 9 เดือนแรก มีทุนจดทะเบียน จำนวน 305.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 56.04%” นางสาวรัชดา กล่าว