พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) เผยว่าวันที่ 15 พ.ย.นี้ ตำรวจจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับจยย.ที่ทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง เข้มงวด โดยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนส่งคลิปกล้องหน้ารถ หรือคลิปบันทึกเหตุการณ์ทำผิดกฎหมายมาให้ตำรวจ เพื่อส่งไปให้ท้องที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะมอบรางวัลให้เจ้าของคลิปลุ้นเงินสูงสุดถึง 2 หมื่นบาท โดยทุกเดือนจะแจก 10 รางวัล มอบเงินลดหลั่นกันไป แต่จะแจกทุกเดือนรวมเป็นเงิน 5 หมื่นบาท
ทั้งนี้นอกจากการออกใบสั่งตามปกติแล้ว หากพฤติการณ์การกระทำผิดก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน หรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท
โดยจะต้องมีการสอบสวนดำเนินคดีและยื่นฟ้องผู้กระทำผิดต่อศาล ยึดรถใช้ในการกระทำผิดเป็นของกลางในคดีและมีคำร้องขอให้ศาลริบเป็นของแผ่นดินด้วย
สำหรับการตรวจจับนอกจากคลิปที่ประชาชนถ่ายมาแล้ว ก็จะมีจับจากเหตุซึ่งหน้า ใช้สายตรวจ ตั้งจุดตรวจ ใช้กล้องตรวจจับเป็นต้น โดยจะมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ กวดขันรถยนต์สาธารณะ และวินจยย.อีกด้วย ส่วนบริษัทบริการขนส่งสินค้าและอาหาร ก็จะกำกับดูแลผู้ขับขี่ในสังกัดมากขึ้น มีการคัดกรองและจะเพิ่มหมายเลขพนักงานที่หลังเสื้อด้วย
ทางนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเผยว่าทางกรุงเทพมหานครได้กวดขันการฝ่าฝืนขับขี่รถจยย.จอดบนทางเท้าอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนก.ค.2561-ปัจจุบัน ได้จำนวน 40,000 ราย เป็นเงินเข้าราชการ 44 ล้านบาท
ส่วนใหญ่เป็นการจับกุมซึ่งหน้าโดยเจ้าหน้าที่ ทั้งการตั้งจุดตรวจ และชุดเคลื่อนที่เร็วของแต่ละสำนักงานเขต ส่วนการดำเนินการปรับตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด ปรับในข้อหาดังกล่าวได้ไม่เกิน 5,000 บาท แต่เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครที่จะปรับจำนวน 2,000 บาทในทุกกรณี
ส่วนที่ให้ประชาชนได้แจ้งเบาะแสเข้ามาด้วยตั้งแต่กวดขันมามีผู้แจ้งแล้วทั้งสิ้น 160,000 ราย ปรับไปแล้ว 77,000 เรื่อง ในกรณีไม่สามารถติดตามตัวได้ก็จะส่งดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน 38,000 เรื่อง ส่วนเงินค่าปรับทั้งสิ้นที่มีผู้แจ้งเบาะแสเข้ามา ทางกรุงเทพมหานครจ่ายไปแล้ว 2,600,000 บาท
ด้านนพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80 มีสถิติผู้เสียชีวิต เดือนพ.ย. จำนวน 358 คน ตั้งแต่ม.ค.-ปัจจุบัน 10,926 คน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 686 ราย