นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาปฐมนิเทศโครงการ ในรูปแบบ Online ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting งานจ้างที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์โครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ วงเงิน 27,500 ล้านบาท ให้สอดคล้องตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโครงการ โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วมการสัมมนานำร่อง “วัชรพล-ทองหล่อ”
นายขจิต กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ จัดเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางรางในเขตกทม.และปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมา สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม จัดทำแบบเบื้องต้นและจัดเตรียมเอกสาร พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล-สะพานพระราม 9 ซึ่งแบ่งแนวเส้นทางออกเป็น 3 ระยะ
ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ ระยะที่ 2 ช่วงพระโขนง –พระราม 3 และระยะที่ 3 ช่วงพระราม 3 – ท่าพระ รวมระยะทางประมาณ 40 กม. โดยผลการศึกษาเสนอแนะให้พัฒนาโครงการระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ ระยะทางรวม 16.3 กม มีสถานีทั้งหมด 15 สถานี เป็นเส้นทางนำร่อง ผู้โดยสารเริ่มต้น 8,000 คนสำหรับแนวเส้นทางของโครงการระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ ตามผลการศึกษาเดิม มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับรามอินทรา เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีวัชรพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมฝั่งทิศทางขาออก ผ่านถนนอยู่เย็น ถนนสุคนธสวัสดิ์ ข้ามถนนเกษตรนวมินทร์ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีคลองลำเจียก ผ่านถนนลาดพร้าว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีฉลองรัช และผ่านถนนพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีพระราม 9
จากนั้นแนวเส้นทางจะยกข้ามรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี และเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีทองหล่อที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สายสายสุขุมวิท) โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) อยู่ที่บริเวณสถานีคลองลำเจียก
มีรูปแบบการพัฒนาโครงการเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ใช้ระยะเวลาในการเดินทางไป – กลับ ประมาณ 62 นาที ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 8,000 – 30,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทางต่อมา สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานคร มีแผนที่จะพัฒนาโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) จึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาให้ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาเดิมและศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 เพื่อเสนอขออนุมัติโครงการ โดยมีขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย
1) จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ
2) วิเคราะห์ความจำเป็นของโครงการ ในการกำหนดมาตรการสนับสนุน เพื่อให้โครงการร่วมลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์
3) จัดทำหลักการของโครงการร่วมลงทุน นำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
และ 4) ดำเนินการประชาสัมพันธ์ จัดการสัมมนา และทดสอบความสนใจของนักลงทุนภาคเอกชน (Market Sounding)
ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนาในครั้งนี้ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กรุงเทพมหานครจะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาของโครงการ พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) และการทดสอบความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding Interview) ในช่วงประมาณเดือนมกราคม 2565 และจะจัดสัมมนาสรุปผลโครงการ ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อนำเสนอรายละเอียดผลการศึกษาข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง
โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.greyline-ppp.com