กรมชลฯ วางแนวบริหารน้ำค้าง 11 ทุ่ง คาดกลางธ.ค. เข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนภาคใต้ให้เตรียมการช่วยเหลือเต็มที่หากเกิดอุทกภัย
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน แถลงแนวทางบริหารจัดการน้ำในทุ่งเจ้าพระยาว่า ณ วันที่ 15 พ.ย.2564 มีปริมาณน้ำใน 11 ทุ่งลุ่มต่ำคือทุ่งเจ้าพระยาและทุ่งบางระกำ รวม 1,765 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง จะเห็นจากปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท ระบายอยู่ที่1,454 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ระบายอยู่ที่ 1,597 ลบ.ม.ต่อวินา ดังนั้นกรมชลฯ จะเร่งดำเนินการระบายน้ำออกสู่ทะเลเสริมกับการระบายตามแรงโน้มถ่วงคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติประมาณกลางเดือนธ.ค.64 ขณะที่ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชีจะกลับสู่ภาวะปกติประมาณปลายเดือน พ.ย.-สัปดาห์แรกของธ.ค. ทั้งนี้เป็นผลจากการระดมเครื่องมือ เครื่องจักรในพื้นที่ที่ไม่มีภัยมาเสริมการช่วยเหลือ
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กำชับให้ช่วยกันเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งให้ได้เร็วที่สุดเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าบ้านได้เร็วที่สุด ซึ่งการระบายน้ำออกจากทุ่งได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนและตัวแทนท้องถิ่นเพื่อเร่งช่วยเหลือประชาชนในการลดวันน้ำท่วมให้เหลือน้อยที่สุดและจะคงปริมาณน้ำในทุ่งเพื่อทำการเกษตรฤดูแล้งไว้ 460 ล้านลบ.ม. ซึ่งผลจากการเสริมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตะวันตกทำให้สามารถระบายน้ำเพิ่มเป็น 52.81 ล้านลบ.ม.ต่อวันจากปกติ 30 ล้านลบ.ม.ต่อวัน"นายประพิศ กล่าว
สำหรับลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังมีน้ำไหลเข้าต่อเนื่องจะมีการคุมเกณฑ์การระบายที่เหมาะสมคือ600ลบ.ม.ต่อวินาที ปัจจุบันระบายน้ำอยู่ที่ 80.28 ลบ.ม.ต่อวินาทึ และผันบางส่วนไปคลองระพีพัฒน์ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนั้นในพื้นที่ภาคใตั ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อช่วยเหลืออย่างเต็มที่ตามข้อสั่งการของนายกฯ และรมว.เกษตรฯ ที่เป็นห่วงประชาชนในภาคใต้
สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง2564/65 นั้น(1 พ.ย.64-30 เม.ย.65) ณ 1 พ.ย.2564 มีน้ำต้นทุน 37,587ล้านบ.ม. แบ่งเป็นแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 22,280 ล้านลบ.ม. สำรองต้นฤดูฝน 15,577 ล้านลบม. โดยแบ่งกิจกรรมการใช้น้ำคือการอุปโภคบริโภค 2,535 ล้านลบ.ม. การรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ7,442 ล้านลบ.ม.เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 11,785 ล้านลบ.ม. และเพื่ออุตสาหกรรม 518 ล้านลบ.ม.