นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าววันนี้ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็น1ใน5พืชเศรษฐกิจหลักภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยืนยันว่าไม่ใช่ภาระแต่เป็นธุระของรัฐบาลในการบริหารนโยบายให้สำเร็จตามที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลเพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้(Universal basic income)จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด19ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วโลก ถือเป็นนโยบายเรือธง(Flagship policy)ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล
โครงการประกันรายได้ชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์แห่งอนาคตในช่วงเปลี่ยนผ่าน(Transition period)ของการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว5ปี(2563-2567)ที่เริ่มมาแล้วตั้งแต่ปี2563 ขับเคลื่อนด้วย4ยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธุ์สร้างมาตรฐานเชื่อมโยง”กลางน้ำ”การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและ”ปลายน้ำคือการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในและต่างประเทศตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ30ล้านคนเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุดซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเราจนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า1ล้านล้านบาทต่อปีในช่วง2ปีที่ผ่านมา หากมองในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและการนำรายได้เข้าประเทศในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่และภาคบริการเช่นการท่องเที่ยวมีตัวเลขการส่งออกที่ลดลง ประการสำคัญคือเงินประกันรายได้ที่เกษตรกรได้รับเกิดจากการทำงานแบบหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินจากหยาดเหงื่อแรงกาย ไม่ใช่การแจกจ่ายแบบให้เปล่า(Free rider)จำนวนหลายแสนล้านบาทเหมือนโครงการอื่นๆของรัฐ นายอลงกรณ์กล่าวว่า ภาคเกษตรในรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กำลังนำภาคเกษตรกรรมเข้าสู่มิติใหม่โดยเฉพาะเกษตรอัจฉริยะแนวทางเกษตรแม่นยำ(Precision Agriculture)ที่ใช้บิ๊กดาต้า(Big Data)และดิจิตอลเทคโนโลยี(Digital Technology)รวมถึงการทำเกษตรแปลงใหญ่ซึ่งพัฒนาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นกว่า5,000แปลงรวมพื้นที่กว่า6ล้านไร่ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเกษตรและประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืนเน้นการบูรณาการความร่วมมือทำงานเชิงรุกกับทุกฝ่ายทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกรด้วยการสร้างกลไกเชิงโครงสร้างและระบบเพื่อขับเคลื่อนด้วยแนวทางใหม่ๆภายใต้5ยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร 1.ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 2.ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินการบริการประชาชนและการพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain)ตั้งแต่การผลิต การแปรรูปจนถึงการตลาด 3.ยุทธศาสตร์3Sเกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน(Safety-Security-Sustainability)4.ยุทธศาสตร์บูรณาการเชิงรุก 5.ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน(Sustainable Agriculture)ภายใต้แนวทางศาสตร์พระราชา “ในขณะที่เราประกันรายได้ชาวนา อีกด้านหนึ่ง เราก็เร่งปฏิรูปข้าวครบวงจรทั้งระบบ วันนี้นิคมอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียนของเรากำลังสร้างในเขตผลิตข้าวลุ่มเจ้าพระยา เราตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC)77จังหวัดคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศมาตั้งแต่1มิถุนายน2563 ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯรวมทั้งการพัฒนา12พันธุ์ข้าวตอบโจทย์ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เราจะย่ำเท้าอยู่กับที่ปล่อยให้ปัญหาจมปลักอยู่ที่เดิม ชาวนาต้องติดหล่มความยากจนและหนี้สินเหมือนในอดีตอีกต่อไปไม่ได้ “ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด