ซึ่งตนได้ประชุมร่วมกับคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการหลายร้อยบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการพูดคุย ทั้งในส่วนของวิกฤตและโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือ ซึ่งทางคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย พร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตนได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาล รวมทั้งแนวทางของคณะทำงานในทุกๆ มิติออกไป ซึ่งเขาก็มีความพึงพอใจและรับว่าจะร่วมมือกับไทยในสิ่งอันที่ไทยจะเจริญเติบโตและก้าวหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบการของธุรกิจข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่และเชื่อมโยงมายังธุรกิจขนาดเล็ก
ซึ่งวันนี้ก็มีสมาชิกของคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยหลายบริษัทด้วยกันที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็หวังว่าจะมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าและระยะต่อไปตามนโยบายของรัฐบาล คือการประกอบการและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในเรื่องของภาวะโลก เศรษฐกิจใหม่ของเรา การลงทุนใหม่ๆ ตอบวาระของโลก รวมทั้งโลกร้อน เศรษฐกิจสีเขียว BCG
“ทั้งหมดผมได้กล่าวไปกับกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งทุกคนยอมรับและชื่นชมในแนวทางและวิสัยทัศน์ของพวกเรา ของประเทศไทยในการเดินหน้าประเทศ ขอฝากไปถึงประชาชนทุกคน ภาคเศรษฐกิจของไทยทุกคนขอให้ติดตามในการทำงานร่วมกันกับประเทศอื่นๆ ในหลายกลุ่มด้วยกัน วันนี้เป็นกลุ่มของประเทศสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจขนาดใหญ่ มีการลงทุนในประเทศไทยแล้วประมาณ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งก็รับว่าจะขยายการลงทุนในไทย ซึ่งผมได้เน้นในเรื่องของพลังงาน ดิจิทัล เทคโนโลยี เรื่องการลงทุน การวิจัยและพัฒนา เรื่องสุขภาพการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาโดยการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่อื่นๆ มีนโยบายที่ได้กำหนดลงไปแล้ว” นายกฯกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มคณะนักธุรกิจจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย ได้มีการสอบถามสถานการณ์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองของไทยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ไม่มี เขาไม่ห่วง เขาชื่นชมด้วยซ้ำไป เขาไม่พูดถึงเลย เขาชื่นชมการทำงานของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายของนายกฯ ชื่นชม ไม่มีใครพูดถึง ผมว่าวันนี้เอาประเทศไทยให้รอดก่อน เอาเศรษฐกิจให้รอด เอาโควิดให้รอดก่อนเถอะ เพราะเรื่องอื่นๆพอได้แล้ว เรื่องการเมืองไม่มีอะไรเกิดขึ้น พอเถอะ ขอกัน”
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายธนกร วังบุญคงชนะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับ พร้อมขอบคุณ AMCHAM และภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เป็นพันธมิตรสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของไทยเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายกรัฐมนตรียืนยัน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ในรูปแบบ Next Normal และการส่งเสริมความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืน ตลอดจนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การค้า และการลงทุน พร้อมขอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมมือกับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป
นาย Gregory Wong ประธาน AMCHAM กล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการหารือครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกและนับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้พบปะกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีตัวแทนสมาชิกที่ให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้กว่า 400 คน โอกาสนี้ ประธาน AMCHAM เน้นย้ำว่า ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลก พร้อมทั้งชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้รับคะแนนดีเยี่ยมจากภาคธุรกิจสหรัฐฯ ในเรื่องของการเปิดกว้างและการปรับตัว การประชุมในวันนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลเปิดรับและยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ประธาน AMCHAM แสดงความประทับใจต่อแผนการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่ในทุกประเด็น รวมถึงพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย โดยขอให้ไทยมอง AMCHAM เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งพร้อมสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของไทยอย่างดีเยี่ยม
โอกาสนี้ ตัวแทนจากบริษัท 3 ประเภทหลัก ได้แก่ บริษัทข้ามชาติ บริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ลดอุปสรรคในการลงทุน โดยภาคเอกชนสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนและกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน ทั้งนี้ตัวแทนจากบริษัทฯ ประทับใจนโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของรัฐบาลไทย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงแนวนโยบายของไทย โดยกล่าวถึงสถานการณ์โควิด - 19 ในประเทศว่ามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตวัคซีน AstraZeneca ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวัคซีนให้แก่ไทยและภูมิภาค ซึ่งไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และกระจายวัคซีนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ ไทยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง และมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีความสมดุลระหว่างการป้องกันโรคกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบาย Smart Control and Living with COVID-19 รวมถึงมีการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โดยรัฐบาลให้ความสําคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างการดําเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่และเกิดผลเป็นรูปธรรม ที่เมืองกลาสโกว ตลอดจน ไทยส่งเสริมการพัฒนาและสนับสนุนการขับเคลื่อนภาคพลังงานของประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านนโยบายพลังงาน 4D1E และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicles: EV) ผ่านนโยบาย 30@30 ซึ่งไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วนระบบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยินดีร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างห่วงโซ่ อุปทานที่ยืดหยุ่น หลากหลาย และมั่นคงในภูมิภาค โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยเชื่อมโยงไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคตามนโยบาย Thailand+1
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในอนาคตและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ตามกรอบ Digital Thailand และนโยบาย Thailand 4.0 โดยมีโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม การส่งเสริม e-commerce การส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจ digital startup การบริหารการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนากฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มพูนการลงทุนและยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเขตนวัตกรรม EECd
อย่างไรก็ดี รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยมีความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้ 1. การทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชน 2. การพัฒนาการให้บริการของภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 3. การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้าถึงและขยายช่องทางการตลาดทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการขับเคลื่อนงานบริการของภาครัฐแก่ประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) 12 ประการ และมาตรการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ผ่านการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยในลักษณะผู้พำนักระยะยาว
สำหรับวาระการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปี 2565 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางหลัก “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และได้กำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมใน 3 ด้านด้วยแนวคิด BCG ได้แก่ 1. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม 2. การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และ 3. การฟื้นฟูความเชื่อมโยง ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนรวมถึงภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทสนับสนุนความต่อเนื่องในการผลักดันประเด็นที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญร่วมกัน ในการส่งต่อวาระเจ้าภาพจากไทยไปสู่สหรัฐฯ ในปี 2566 ต่อไปด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 โดยขอให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย พร้อมเชิญชวนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของไทยและภูมิภาค ผ่านการเพิ่มพูนความร่วมมือและการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยรัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ เพื่อการเติบโตไปด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเราไม่รู้ว่าโควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน พร้อมทั้งขอบคุณ AMCHAM โดยนายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับและพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี และพร้อมร่วมมือกับ AMCHAM อย่างเต็มที่