ทั้งนี้ เพื่อนำมาเป็นกรอบและทิศทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย พร้อมทั้งการสร้างความพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งในระดับพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนและ SMEs สร้างความมั่นคงทางน้ำ อาหาร พลังงานให้กับครัวเรือนและชุมชน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกลไกขับเคลื่อนประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.)
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ SEDZ เป็นแนวทางที่ภาครัฐสนับสนุนการจ้างงาน โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์พื้นฐาน และการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ด้วยการดึงภาควิชาการมาร่วมพัฒนาและยกระดับศักยภาพตัวบุคคล ต่อยอดด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสม มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการ วางแผน พัฒนา และต่อยอดผลผลิตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนา พื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซาก โดยใช้โอกาสจากภาคแรงงานที่มีทักษะและศักยภาพ ที่ประสบปัญหาว่างงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และกลับไปยังบ้านเกิด มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการให้ความรู้ตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ภูมิปัญญาดั้งเดิม เพิ่มพูนด้วยชุดความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และภูมิสังคม ยกระดับเป็น “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่” เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 9 กิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ประกอบด้วย ได้แก่ 1.กำหนดพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการ 2. พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการ 3.บ่มเพาะพัฒนาบุคลากร 7 ภาคี คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และเร่งสร้างผู้ประกอบการใหม่ 4. สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก 5. ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงประจักษ์ผ่านการฝึกปฏิบัติร่วมในรูปแบบจิตอาสาพัฒนาและจิตอาสาภัยพิบัติ 6. ต่อยอดผลผลิตเพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) 7. จัดทำแพลตฟอร์มขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ 8. สร้างนวัตกรรมจากฐานการวิจัยเพื่อพัฒนาตลาดและธุรกิจในพื้นที่ และ 9.สร้างการรับรู้และจดจำ และการสื่อสารสังคมเชิงรุก
สำหรับ การขับเคลื่อนในพื้นที่จะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน ระดับชุมชน/ตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ผ่านแนวทางระบบเกษตรสองขา “พอเพียง แบ่งปัน แข่งขันได้” โดยใช้รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดำเนินการ ผ่านกลไกการมีส่วนร่วมและภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามบริบทของพื้นที่ที่กำหนดร่วมกัน และส่งผลต่อการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มพื้นที่จัดเก็บคาร์บอนและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม เป็นการนำการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกต่อไป
“Sufficiency Economy Development Zones for Sustainable Development Goals (SEDZ for SDGs) เป็นการดำเนินงานตามถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 ในประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา"ปลัดกระทรวงหมาดไทย กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวย้ำว่า เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้เข้าร่วมโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด คัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย/พื้นที่ปฏิบัติการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหา สภาพภูมิสังคม เช่น ที่ดินของส่วนราชการ พื้นที่สาธารณประโยชน์ พื้นที่ภาคเอกชน พื้นที่ภาควิชาการ/สถาบันการศึกษา พื้นที่องค์กรศาสนา และพื้นที่ภาคประชาชน หรือพิจารณาใช้ข้อมูลพื้นที่ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้เคยมีการสำรวจไว้ หรือพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากข้อมูลพื้นที่น้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก ที่ได้มีการเก็บข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณาเลือกพื้นที่
นอกจากนั้น ได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินเข้าร่วมโครงการภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่พื้นที่ที่เข้าร่วมนั้น ต้องพัฒนาให้สามารถประโยชน์สุขร่วมกันตามนโยบายของรัฐบาลในการขจัดปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นพื้นที่มีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที และต้องได้รับการยินยอมให้ใช้พื้นที่และจดทะเบียนการใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยขอให้ทางจังหวัดจัดส่งข้อมูลพื้นที่มายังกระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 นี้