จากความสำเร็จของการศึกษาด้านพันธุกรรมมนุษย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ประกอบกับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของ “เทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่” ส่งผลให้เกิด “การแพทย์จีโนมิกส์” ที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัย และวางแผนการรักษาเฉพาะบุคคลได้อย่างเหมาะสมแม่นยำขึ้น
“การแพทย์จีโนมิกส์” หรือ “การแพทย์แม่นยำ” เป็นแนวทางการดูแลผู้ป่วย โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต ที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละคนมาประกอบในการวินิจฉัย และเลือกการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งปัจจุบันในหลายๆประเทศได้เริ่มต้นแล้ว กับการนำการแพทย์จีโนมิกส์ มาประยุกต์ใช้ เช่น รักษาโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้ออย่างวัณโรค/HIV เภสัชพันธุศาสตร์ในการป้องกันการแพ้ยาเพื่อเลือกใช้ยาที่เหมาะสม ฉะนั้น ในอนาคตการแพทย์แม่นยำจะเข้ามามีบทบาทต่อสุขภาวะของประชากร ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เป็นทารก จนโตและเสียชีวิต บนเป้าหมายการสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชากร
สำหรับ “ประเทศไทย” ได้ก้าวมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ.2563-2567” สนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมคนไทย 50,000 ราย มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธาณสุข บนเป้าหมายเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบบริการการแพทย์ของประเทศให้เกิดมาตรฐานใหม่ ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพ โดย ครม. อนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลัก มีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานกลางขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย
อีกทั้งอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สงเสริมใหมีการลงทุน ให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย บริการ และธุรกิจเกี่ยวของ นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ยังได้บรรจุแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ เป็นแผนงานวิจัยสำคัญ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน และวางรากฐานเศรษฐกิจ โดยมีงบประมาณจัดสรรจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ กองทุน ววน. อีกด้วย
ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การลงทุนในเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงในช่วงแรก แต่ในระยะยาว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การตรวจยีนมะเร็งบางชนิด เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็ง การตรวจยีนเสี่ยงแพ้ยา ทำให้ลดการเกิดการแพ้ยารุนแรง การรักษา แบบมุ่งเป้า ทำให้เพิ่มอัตราหายของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งนำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมหาศาล รวมทั้งเทคโนโลยี และองค์ความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แม่นยำ ยังสามารถต่อยอดให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ และอุตสาหกรรมใหม่ ที่จะช่วยส่งเสริม medical hub และเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
สำหรับผลงานในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานภายใต้แผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย2 ได้ปรากฎงานที่ชัดเจนขึ้นมาแล้ว ประกอบไปด้วย พัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อ และกลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา ภายใต้การสนับสนุนจาก สวรส. ได้แก่ 1) การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อพัฒนาการรักษา ยา และชุดตรวจ ใน 5 กลุ่มโรค, 2) การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการ เช่น การทำนายผลและการเลือกกลุ่มยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด, การตรวจคัดกรองมะเร็งที่ถ่ายทอดในครอบครัว, การตรวจวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมในทารกที่เป็นโรคลมชักรุนแรง เป็นต้น, 3) การวิจัยเพื่อการวินิจฉัยให้คำแนะนำผู้ป่วย และการประเมินความเสี่ยงวางแผนการรักษา ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งหายาก, กลุ่มผู้ป่วยโรคพันธุกรรมภูมิคุ้มกันหายาก (โรคปริทันต์), กลุ่มผู้ป่วยโรคท้าวแสนปม เป็นต้น, 4) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลจีโนม เพื่อการวิเคราะห์และแปลผลยีน ในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งสมอง มะเร็งรังไข่, กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังของประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาฐานข้อมูลเชื้อแบคทีเรียดื้อยา, เชื้อดื้อยาที่อุบัติใหม่ และไวรัสโรทาที่ก่อโรคอุจาระร่วงในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นต้น
พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รองรับการสนับสนุนงานวิจัย และการให้บริการการแพทย์จีโนมิกส์ โดย 1) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำหน้าที่สกัด DNA และจัดเก็บตัวอย่างที่ได้จากโครงการวิจัย ให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ที่พร้อมส่งต่อสำหรับการนำไปถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม 2) สวรส. ดำเนินการจัดจ้างภาคเอกชน “ให้บริการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม” โดยตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ม.บูรพา เพื่อดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของอาสาสมัครไทยภายใต้โครงการจีโนมิกส์ประเทศไทย จำนวน 50,000 ราย 3) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมขนาดใหญ่เพื่อการวินิจฉัย การเลือกวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การทำนายโอกาสการเกิดโรค รวมไปถึงการต่อยอดเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังมีงานท้าทายสำคัญที่จะผลักดันต่อ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ตลอดจนนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการตรวจทางพันธุศาสตร์ที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน รวมไปถึงการผลักดันเป็นบริการในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพไทย ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการการแพทย์แห่งอนาคต
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้บรรยายเรื่องนี้ไว้ในวงประชุมสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย หัวข้อ "การแพทย์จีโนมิกส์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและบริการในสถานพยาบาล" ให้กับผู้บริหารโรงพยาบาลจากทั่วประเทศ เพื่อเห็นทิศทางร่วมกันสำหรับการบริการทางการแพทย์ให้กับคนไทยในอนาคตว่า การแพทย์จีโนมิกส์ จะอยู่กับเราในอนาคตแน่นอน ด้วยทิศทางการพยากรณ์โรคและการรักษาผู้ป่วยสำหรับอนาคตจะต้องมีความแม่นยำ เป็นการรักษาเฉพาะตัวบุคคลอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มโรค 5 ชนิด ที่จะได้มาจากพันธุกรรมของคนไทยที่ใกล้เคียงกัน ที่สำคัญคือ คนไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงการบริการทางการแพทย์นี้ได้อย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม ด้วยข้อมูลจากงานวิจัยการแพทย์จีโนมิกส์ที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งเทคโนโลยีการแพทย์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อสุขภาพของคนไทยทุกคน
"ความสำคัญของงานวิจัยจีโนมิกส์เรามุ่งหวังให้มีการพัฒนาเชิงนโยบาย และผลักดันให้การบริการทางการแพทย์จีโนมิกส์ เข้าไปสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บนความต้องการให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ๆ การตรวจรักษาใหม่ๆ ในระบบสุขภาพ เพื่อประสิทธิภาพการบริการทางสุขภาพที่คนไทยจะได้รับ" ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) อดีตประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ.2563-2567) กล่าวว่า “ถ้าโครงการนี้สำเร็จ อีก 5 ปี หรือ 10 ปี เราจะเห็นการแพทย์แบบจำเพาะบุคคล โรคทางพันธุกรรมจะมีอุปกรณ์ในการวินิจฉัยโรค อนาคตนั้นทุกโรงพยาบาลอาจจะมีเครื่องมือในการตรวจยีน ผู้ป่วยจะทราบผลการตรวจยีนโดยที่ได้ผลเร็วขึ้นและรู้ว่ายีนของคนนั้นเป็นอย่างไร เมื่อนำผลยีนที่ตรวจมาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยแล้ว จะทำนายได้ว่าคนๆนั้นมีโอกาสจะเป็นโรคอะไร ซึ่งทำให้การวินิจฉัยโรค การรักษาโรคจะแม่นยำมากขึ้น เครื่องมือพวกนี้เป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ฉะนั้นในอนาคตการรักษาจะเปลี่ยนไปมาก เชื่อว่าจะสามารถยืดอายุของคนไทยให้มากกว่าปัจจุบันได้อีกด้วย”
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ สู่การพัฒนาระบบสุขภาพ เพื่อคนไทย ในการวินิจฉัย ป้องกัน รักษา เปิดโอกาสให้ได้รับบริการทางการแพทย์แม่นยำที่เข้าถึงได้ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการแพทย์ทันสมัย และพร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งอนาคตด้วย “การแพทย์จีโนมิกส์”
ข้อมูลจาก :
- 1แผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567)
- ประชุมสมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย ในประเด็น "การแพทย์จีโนมิกส์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและบริการในสถานพยาบาล" เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564
- 2ภาพรวมแผนงานวิจัยจีโนมิกส์ประเทศไทย และผลงานสำคัญปี 2563 สวรส.