นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาวิกฤตหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.ของทุกปี โดยวิกฤตหมอกควันที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยตลอดระยะเวลานับสิบปีที่ผ่านมานั้น พบว่าสาเหตุหลักมาจากการเผาป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการเผาในพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน รวมทั้งการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และทัศนวิสัยการเดินทางของประชาชนอย่างมาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว จึงขอความร่วมมือให้หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพ และหน่วยงานในพื้นที่เตรียมการรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งคุมเข้มมาตรการทางกฎหมาย เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า และให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่รณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตรผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
“การลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการควบคุมแห่งกำเนิดไฟป่า ที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองไม่ให้สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควันที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนานในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและหลายประเทศทั่วโลกที่ให้ความสำคัญในการเร่งแก้ปัญหาการลดโลกร้อนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศของโลกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศที่เปลี่ยน รวมถึงการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ "BCG" หรือ Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว และการประกอบกิจการหรือดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนตามมาภายหลัง” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับการแก้ไขปัญหาหมอกควันและปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองนั้น รัฐบาลได้มีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านฝุ่นละออง แบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้
- ระดับที่ 1 PM5 ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. : หน่วยงานดำเนินภารกิจตามสภาวะปกติ
- ระดับที่ 2 PM5 ระหว่าง 51- 75 มคก./ลบ.ม. : ทุกหน่วยงานดำเนินมาตรการให้เข้มงวดขึ้น
- ระดับที่ 3 PM5 ระหว่าง 76 -100 มคก./ลบ.ม. : ผู้ว่าราชการกทม./จังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมพื้นที่ควบคุมแหล่งกำเนิดและกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ
- ระดับที่ 4 PM5 มากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. : เสนอให้ประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง (กก.คพ. กก.วล) เพื่อเสนอมาตรการให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ เป็นต้น