นางลัลน์ลลิตฤดี วิเศษศิริ นายกสมาพันธ์นักข่าว (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การจัดอบรมสื่อมวลชนในหัวข้อ “สุ จิ ปุ ลิ ฐานันดร 4 (5G)” จัดขึ้นเพื่อต้องการยกระดับอาชีพสื่อมวลชนให้ก้าวทันโลกดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าว การเป็นสื่อที่ดีมีจริยธรรม มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพสื่อมวลชน โดยการจัดอบรมสัมมนาครั้งนี้มีสื่อมวลชนอาชีพให้เกียรติมาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรมทั่วประเทศ โดยมีผู้ร่วมงานแถลงข่าว อาทินายวีระวัฒน์ วัฒนกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ ภายในงานได้รับเกียรติจากนายสุรชัย วิเศษโสภา นายกสมาคมช่างภาพข่าวสื่อมวลชน ( ประเทศไทย), ดร.เอกชัย เหลืองสะอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), พลเอกพนา ถนอมสิงห์ ที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์นักข่าว (ประเทศไทย)
ประเด็นหลักการการฟัง การคิด การถาม และการเขียน เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เราถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก และทัศนะของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ รวมทั้งการเจรจาต่อรอง ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ สุ จิ ปุ ลิ หัวใจของนักปราชญ์ สุ ย่อมาจากคำว่า สุตตะ แปลว่า การฟัง จิ ย่อมาจากคำว่า จินตะ แปลว่า การคิด ปุ ย่อมาจากคำว่า ปุจฉา แปลว่า การถาม ลิ ย่อมาจากคำว่า ลิขิต แปลว่า การเขียน
ทั้งนี้ ปัจจุบันการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เครื่องมือสื่อสารและสังคม ทำให้แต่ละบุคคลสามารถแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้ทัศนคติต่อสิ่งต่างๆได้อย่างง่ายดายจึงเป็นเหตุให้เกิดประเด็น ทางสังคมในหลายด้าน หากเป็นเรื่องทั่วไปไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อใดก็ตาม เกิดเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรซึ่งอาจเกิดจากบุคคลากรภายนอกหรือบุคลากรภายในด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงขององค์กร ยากต่อการแก้ไขและก่อให้เกิดปัญหาให้กับสังคม
ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำงานในปัจจุบันอยู่แต่จะเพิ่ม ด้วยการส่งเสริมความรู้ให้เข้าใจถึง แนวคิด แนวทางการสร้างสรรค์เนื้อหาอย่างสร้างสรรค์ ข้อควรปฏิบัติที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและจริยธรรมรวมถึงการสวมวิญญาณเป็นนักข่าว เข้าใจถึงความคิดและความต้องการของนักข่าว ตลอดจนสามารถเข้าใจหลักการเขียนข่าวได้อย่างถูกต้องและสามารถนำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ บนสื่อออนไลน์อย่างเหมาะสม มีเหตุผล ไม่เพียงแต่จะช่วยป้องกันและรักษาภาพลักษณ์-ชื่อเสียงองค์กรเท่านั้น แต่ยังลดความเสี่ยงการเกิดประเด็นปัญหาที่อาจนำมาซึ่งวิกฤต ที่สำคัญ เป็นการสร้าง“นักข่าวองค์กร”ที่จะสามารถช่วยสื่อสารข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ให้แก่องค์กรได้อย่างมีกลยุทธ์อีกด้วย
สำหรับหลักสูตรนี้จัดขึ้นเพื่อให้นักสื่อสารทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค สำหรับผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชนด้านการสื่อสารขององค์กรและนักข่าวอาชีพที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันและที่เกิดขึ้นมาใหม่บนโลกออนไลน์ให้ทราบถึงการจัดการ ประเด็นเนื้อหา กฎหมายและจริยธรรมการสื่อสาร การบริหารงานข่าว การนำเสนอบนสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนา ให้เป็น นักข่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบเนื้อหาเหมาะสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้านการสื่อสาร / นักข่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร / เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ประชาชนทั่วไปที่สนใจ
สำหรับระยะเวลาการอบรม 3 วัน ต่อครั้ง โดยมีการอบรม 5 ครั้ง โดยกำหนดไว้ดังนี้ วันที่ 17–19 ธันวาคม พ.ศ.2564 เวลา 09.00-17.00 น. เป็นเวลา 3 วัน ณ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เป็นครั้งที่ 1 วันที่ 14 – 16 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00-17.00 น. เป็นเวลา 3 วัน ณ อ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเป็นครั้งที่ 2 วันที่ 21 – 23 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00-17.00 น. เป็นเวลา 3 วัน ณ เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง เป็นครั้งที่ 3 วันที่ 4 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 09.00-17.00 น. เป็นเวลา 3 วัน ณ.วัดบ้านไร่ จังหวัดนครราชสีมา เป็นครั้งที่ 4 และสุดท้ายวันที่ 25 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 09.00-17.00 น. เป็นเวลา 3 วัน ณ กองบิน46 จังหวัดพิษณุโลก เป็นครั้งที่ 5 สื่อมวลชนสนใจเข้าร่วมการอบรม สามารถส่งรายชื่อมาที่สมาคมสมาพันธ์นักข่าว(ประเทศไทย) โทร 082-189-9808