กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (29 พ.ย.64) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง แล้วช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส 105 มิลลิเมตร , สงขลา 253 มิลลิเมตร และนครศรีธรรมราช 122 มิลลิเมตร โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม ช่วง 1 - 2 วันนี้ บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา พร้อมเฝ้าระวังคลื่นสูงและระดับน้ำทะเลยกตัวบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 39,144 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 31,574 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 66 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัด เขื่อนภูมิพล อ่างเก็บน้ำแม่จาง และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกงมีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เช่นเดียวกับปริมาณออกซิเจนละลายน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งจนถึงวันที่ 1 ธันวาคม เบื้องต้นให้กรมชลประทานตรวจสอบสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำระบบ HYDRO FLOW บริเวณในจุดเสี่ยง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดลำน้ำ ลำคลอง และบริเวณหน้าอาคารชลประทานต่างๆ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพรวม 79 สายคลอง รวมระยะทาง 182,280 เมตร รวมทั้ง บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด // กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรเครื่องกล เช่น รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ เรือท้องแบนอลูมิเนียม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์อุทกภัย // กรมทรัพยากรน้ำ ตรวจสอบระบบเตือนภัยล่วงหน้าน้ำท่วมฉับพลัน-ดินโคลนถล่ม (Early Warning) เตรียมความพร้อมด้านสนับสนุนรถบรรทุก และเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนการบริหารจัดการเขื่อนบางลางโดยใช้ฝนคาดการณ์ พร้อมปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนตกในพื้นที่