จากสถานการณ์ปัญหาขยะทะเลที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยขยะทะเลของประเทศไทยพบว่ามีปริมาณสูงมาก โดยการสำรวจจากทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ปี 2010 จาก 192 ประเทศที่ติดชายฝั่งทะเลพบว่า ประเทศไทยปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ประกอบกับสถานการณ์ที่มีขยะพลาสติกจำนวนมากในทะเลระหว่างจังหวัดชุมพรและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก โดยนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนการประกาศใช้กฎหมายต่อไป
นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการศึกษามาตรการทางนโยบายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกโดยประเทศต่างๆ สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ มาตรการทางกฎหมาย (Regulative Measure) และมาตรการทางสมัครใจ (Voluntary Measure) ในส่วนมาตรการทางกฎหมาย ประกอบด้วยการดำเนินการใน 2 รูปแบบ โดยมาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติกดำเนินการได้ทั้งในระดับผู้ผลิตและผู้บริโภค ประเทศส่วนใหญ่เลือกดำเนินการในระดับผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ถุงพลาสติกเป็นผู้จ่าย เพราะมาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณการใช้ลงได้เป็นอย่างมาก ในส่วนผู้ประกอบการต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงกังวลว่าจะเสียลูกค้าไป หากเก็บเงินค่าถุงพลาสติกหรือปฏิเสธที่จะให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า อีกทั้งผู้บริโภคยังคงไม่ได้ตระหนักถึงต้นทุนของพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นและปัญหาที่เกิดขึ้นจากขยะถุงพลาสติก การเก็บภาษีถุงพลาสติกนี้ สามารถลดปริมาณการใช้ลงเป็นอย่างมากประมาณร้อยละ 80-90 เช่น ประเทศไอซ์แลนด์ดำเนินการในเก็บภาษีถุงพลาสติกจากผู้บริโภคเพื่อแก้ปัญหาขยะที่ส่งผลต่อทัศนียภาพ ความสวยงามของเมืองและแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเรื่องถุงพลาสติกและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะ โดยเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม พ.ศ.2545 หลังจากการประกาศเก็บภาษีพบว่าปริมาณการใช้ลดลงอย่างมากหรือประมาณร้อยละ 90 ในปี 2553 ประเทศไต้หวันรัฐบาลไม่ได้กำหนดอัตราภาษีที่ตายตัว โดยก่อนดำเนินมาตรการประเทศไต้หวันมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 2.5 ถุงต่อคนต่อวัน หลังดำเนินมาตรการแล้ว 1 ปี อัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงกว่าร้อยละ 80
ส่วนการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้ถุงพลาสติก พบว่าอัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงประมาณร้อยละ 60 เช่น ประเทศจีนห้ามมิให้มีการผลิต จัดจำหน่ายและใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทธีลีนความหนาแน่นสูง ผู้ประกอบการที่ให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าโดยไม่คิดมูลค่าจะต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 10,000 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาท หลังจากดำเนินการไปแล้ว 1 ปี สามารถลดจำนวนถุงพลาสติกได้ร้อยละ 66 .ในประเทศอิตาลี มีการห้ามไม่ให้ผู้ค้าปลีกแจกถุงที่ทำจากโพลีเอทธิลีนแก่ลูกค้า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 โดยให้ใช้ถุงที่ย่อยสลายได้ ถุงกระดาษ หรือถุงผ้าแทน