ความหวังของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในภาคใต้และภาคอีสาน มีท่าทีว่าจะเป็นจริง เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนดิน (โซล่าร์ฟาร์ม) ในเฟส 2 ที่ กกพ.จะประชุมกันในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นี้ มีข่าวกระเส็นกระสายออกมาแล้วว่า.... กกพ.จะเปิดโอกาสให้สหกรณ์ภาคการเกษตรได้มีสิทธิเข้าร่วมแข่งขัน โดยจะใช้วิธีการจับฉลาก เช่นเดียวกับเฟส 1 โดยจะมีโควตาคงไว้ให้อย่างน้อย 100 เมกะวัตต์ (จากส่วนที่เหลือตกค้างมาจากโครงการในเฟสแรก)
แต่กระนั้นก็ตามแนวคิดที่จะลดราคาการรับซื้อไฟฟ้า ให้เหลือเพียง 4. 12 บาท / กิโลวัตต์ (ในเฟส 2) ยังคงมีอยู่..... ทั้งๆ ที่โครงการในเฟส 2 นี้ ต่อเนื่องจากเฟสแรก ซึ่งได้ประกาศราคารับซื้อเอาไว้ในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว 5.66 บาท/กิโลวัตต์
“นี่คือปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรพากันวิตกกังวล”
ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ประธานมูลนิธิลดโลกร้อน ซึ่งยืนข้างเกษตรกรมาโดยตลอด ต้องออกมาส่งสัญญาณร้องขอผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่า.... โครงการนี้เป็นโครงการที่นายกรัฐมนตรีตั้งใจจะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้าบนที่ดิน ซึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมได้ การที่ กกพ.จะกดราคารับซื้อลงไปอีกนั้น จะทำให้เม็ดเงินที่จะตกถึงมือเกษตรกรลดลงไปเป็นอย่างมาก อีกทั้งกว่าจะถึงจุดคุ้มทุนก็ต้องใช้ระยะเวลาถึง 16 ปี ประการสำคัญในการทำโครงการนี้ ผู้ร่วมสนับสนุนสหกรณ์ภาคการเกษตรจะต้องไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่เมื่อผลตอบแทนน้อยลง ก็จะมีความยุ่งยากในการขอกู้เงินมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับที่เคยเกิดปัญหาจากโครงการในเฟสแรกมาแล้ว
“โครงการนี้ถือได้ว่า เป็นโครงการประชารัฐ และหากต้องการจะช่วยเหลือเกษตรกรจริงๆ ภาครัฐก็ไม่ควรไปคิดเล็กคิดน้อย ในเมื่อเคยประกาศราคารับซื้อไปอย่างหนึ่งแล้ว เฟสที่ต่อเนื่องกันมาก็ควรจะใช้ราคารับซื้อเดียวกัน ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งจะทำให้ความน่าเชื่อถือของภาครัฐต่อสายตาประชาชนและนักลงทุนลดน้อยลงไปด้วย ความจริงแล้วนอกจากราคาในการรับซื้อควรจะคงราคาไว้เท่าเดิม กกพ.ก็น่าจะพิจารณานำโควตาโซลาร์ฟาร์มภาคราชการส่วนหนึ่ง มาแบ่งปันเพิ่มเติมให้สหกรณ์ภาคเกษตรกรเสียด้วยซ้ำไป” ประธานมูลนิธิลดโลกร้อน กล่าวทิ้งท้าย