กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังางน ร่วมกับ ERIA และ IEE Japan ทำการศึกษามาตรฐานควบคุมมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปรียบเทียบมาตฐานสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าถ่านหิน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน+6 พบว่าประเทศไทยมีมาตรฐานในระดับ ดีที่สุดในอาเซียน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East ASIA – ERIA) ได้มีจัดการประชุม “Improving an Emission Regulation for Coal-Fired Power Plant in ASEAN เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 โดยได้นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศในแถบอาเซียน ในเรื่องของประสิทธิภาพของข้อกำหนดการกำกับการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในอาเซียน
กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ได้ร่วมมือกับ 2 หน่วยงาน ERIA (Economic Research Institute for ASEAN and EAST Asia) และ IEEJ (Institute of Energy Economics, Japan) ทำการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ของประเทศในอาเซียน โดยศึกษาได้เปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และในประเทศอาเซียน+6 ในการควบคุมมลภาวะที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยศึกษาในประเทศหลัก 8 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ญี่ปุ่น และ อินเดีย ซึ่งจากผลประเมินโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย โดยเฉพาะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ อยู่ในระดับดีมากถึงดีมาก เนื่องจากที่ผ่านมา มีการปรับปรุงมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง แต่ในด้านกระบวนการตรวจสอบ ประเทศไทยปรับปรุงให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
“มาตรฐานการตรวจสอบการปลดปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. Emission Standard (มาตรฐานการปลดปล่อยไอเสีย) และ 2. Review Process (มาตรฐานด้านกระบวนการตรวจสอบและติดตามประเมิน โดยมาตรฐานการปล่อยไอเสียนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น 1.คุณสมบัติของถ่านหินที่ใช้ 2. เทคโนโลยีที่ใช้ของโรงไฟฟ้า 3. เม็ดเงินการลงทุน เมื่อมีการลงทุนสูง ก็คาดว่าจะมีการควบคุมมลพิษที่ดีขึ้น และ 4. ความสามารถในการกำกับให้การดำเนินงานเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ประเทศไทย อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและนับว่าดีกว่าทั้งหมด แต่ในส่วนของกระบวนการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยยังสามารถปรับปรุงให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้” ผอ.สนพ.กล่าวเพิ่มเติม
Mr.Shigeru Kimura, Special Adviser to the President on Energy Affairs จาก Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่จะวิเคราะห์ประสิทธิภาพของข้อกำหนดของการกำกับการปล่อยมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในอาเซียนและระบุถึงวิธีการที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งการศึกษานี้จะแบ่งออกเป็นสองระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2559 และระยะที่ 2 ปี 2560 และกล่าวถึงข้อแนะนำเกี่ยวกับนโยบายที่คาดหวังไว้ คาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2560
ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยมีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมดีขึ้นมาก เป็นเพราะว่าได้มีการปรับปรุงมาตลอดโดยตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่ได้มีการรื้อถอนโรงไฟฟ้าเก่า เพื่อปรับปรุงสร้างใหม่ให้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้มีการปรับปรุงเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ในปัจจุบันสามารถที่จะลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี