นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เร็วๆนี้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการส่งเสริมการใช้ ส่งเสริมการลงทุน ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
ตลอดจนการดูแลส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายมุ่งผลิตรถยนต์ที่ไม่ปล่อยมลพิษ( ZEV )ให้ได้ 30% ของทั้งประเทศในปี 2030 โดยยังคงรักษาให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในระดับภูมิภาค และการประกาศนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังการประชุม COP 26 ที่ผ่านมาที่ไทยจะมุ่งสู่การเป็น Net Zero ในปี 2065
“ภารกิจการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมโลว์คาร์บอนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งรัฐทำคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชน ดังนั้นการที่เอ็มจีซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และบางจากซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจน้ำมัน ถือว่าเป็นการช่วยสร้าง ecosystem ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเราอยากเห็นให้เกิดการสร้างพันธมิตรแบบนี้เพิ่มขึ้นอีก”
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บางจากได้ร่วมกับเอ็มจี ในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศเปิดจุดให้บริการ MG Super Charge สถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว (EV Quick Charging Station) ที่ได้มาตรฐานมากที่สุด เพื่อให้บริการที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาศรีนครินทร์เป็นแห่งแรก
ความร่วมมือดังกล่าว จะมีส่วนเสริมให้บางจากสามารถจะขยายจำนวนสถานีชาร์จให้ได้ตามเป้าหมาย 100 สาขา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่บางจากมีอยู่ 67 สถานี แบ่งเป็นในต่างจังหวัด 54 สถานี และในกรุงเทพปริมณฑล 13 สถานี เป็นผู้นำในการให้บริการสถานี ส่วนในปีหน้ามีแผนจะขยายให้ได้อีก 100 สถานีรวมเป็น 200 สถานี นอกจากนี้มีแผนจะขยายจำนวนรถมอร์เตอร์ไซด์ไฟฟ้า winnonie ให้ได้ 2,000-3,000 คัน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบางจากได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2030 (2573)และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050(2593)โดยมีแผนการติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในสถานีบริการน้ำมันบางจากที่จะนำประเทศไทยสู่การใช้พลังงานสะอาด ร่วมกับพันธมิตรขยายจำนวนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจและความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ บางจากฯ ถือเป็นกลุ่มธุรกิจผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ดำเนินงานในธุรกิจหลักคือ ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ธุรกิจการตลาด ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับนวัตกรรมสีเขียว โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขวิกฤตโลกร้อน วางแผนเพิ่มสัดส่วนธุรกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่อง ขยายธุรกิจเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ศึกษาการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ เช่น พลังงานไฮโดรเจน นวัตกรรมดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างเครือข่ายตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตด้วยการก่อตั้ง Carbon Markets Club และร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งอนาคต Syn Bio Consortium
ด้านธุรกิจการตลาด บางจากฯ สร้างสรรค์สถานีบริการน้ำมันบางจากอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิด Greenovative Destination ให้เป็นจุดหมายที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้สำหรับทุกคน มีเอกลักษณ์สวยงามทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบครัน พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันคุณภาพสูงดีทั้งต่อการใช้งานและสิ่งแวดล้อม ห้องน้ำสะอาด ร้านกาแฟอินทนิลใช้ภาชนะย่อยสลายได้ 100 % การใช้ระบบ digital payment เป็นต้น
สำหรับ ผู้ใช้รถได้แวะชาร์จรถและพักดื่มกาแฟอินทนิลระหว่าง 25 ธ.ค. 64 – 2 ม.ค. 65 สามารถถ่ายรูปขณะใช้บริการ EV Quick Charging Station ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก และติด Hashtag # Rechargeyourcarrefreshyourself # GreenovativeDestination รับส่วนลดเครื่องดื่มอินทนิลทันที 10 บาททุกเมนู ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมันบางจากที่มี EV Quick Charging Station ได้ที่ Bangchak Mobile Application
ด้านนาย จาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอ็มจี ในฐานะผู้บุกเบิกรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ มุ่งมั่นผลักดันสังคมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเอ็มจีไม่ได้เพียงแค่เปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ยังเดินหน้าสร้างโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมในทุกมิติควบคู่กันไป โดยปัจจุบันมีการติดตั้งสถานีชาร์จ 120 แห่ง ถึงสิ้นปีจะมีจำนวน 150 สถานี และมีแผนจะขยายให้ได้ 500 แห่ง
“วันนี้เราภูมิใจที่ได้เห็นการเติบโตของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจนกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลากหลายแบรนด์เริ่มแนะนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมไปถึงภาครัฐที่ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจน”
สำหรับ MG Super Charge ที่ติดตั้งให้บริการที่สาขาศรีนครินทร์จะเป็นแห่งแรกที่จะเป็นเครื่องอัดประจุแบบเร็ว DC Charge ใหม่และขนาดใหญ่ที่มีกำลัง 120 กิโลวัตต์ และรองรับการชาร์จได้ 2 คันพร้อมกัน
ขณะที่นายจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA กล่าวว่า ขณะนี้ทาง MEA มีมาตรการสนับสนุนอีวี ด้วยการกำหนดอัตราค่าไฟถูกพิเศษ หรือ Low Priorities อัตราหน่วยละ 2.60 บาท เท่ากับช่วงออฟพีค เป็นระยะเวลา 2 ปี จากปกติอัตราค่าไฟฟ้าจะคิดตามช่วงเวลา เช่น ช่วง 9.00-22.00 น. อัตราหน่วยละ 4.60 บาท และ 22.00-9.00 น. หน่วยละ 2.60 บาท
ทั้งนี้ ราคาค่าไฟดังกล่าวจะถือราคาขายส่งเท่านั้น ซึ่งทางผู้ให้บริการชาร์จจะบวกเพิ่ม ตามต้นทุนแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีราคาหลากหลายเพราะไม่มีการควบคุมราคาขายปลีก เช่น สถานีบริการบางจาก สาขาศรีนครินทร์ อัตรา 7 .50 บาท อย่างไรก็ตาม การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะประหยัดกว่าการใช้น้ำมัน 4 เท่า เช่น เคยเติมน้ำมัน 1,000 บาท ก็เหลือแค่ 250 บาท
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ทาง MEA มีแผนจะขยายสถานีชาร์จของเรา 100 จุดในปี 2565 โดยจะใช้งบประมาณค่อนข้างสูง แต่ต้องมุ่งลงทุนเพื่อให้บริการกระจายในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลมากขึ้น เพราะในวันที่ 1 มกราคม 2565 ทุกหน่วยงานจะต้องเปลี่ยนมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 100% ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่ออกมาตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งจะทำให้การใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีค่าใช่จ่าย 2 ล้านบาทต่อหัวชาร์จ สำหรับหัวชาร์จแบบ DC ส่วนหัวชาร์จปกติอาจจะมีต้นทุนต่ำกว่าอยู่ที่ 2-3 แสนบาท แต่ด้วยปริมาณการใช้ยังไม่มากจึงทำให้โอกาสคืนทุนช้า กว่า 2 ปี และเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะล้าสมัย ใน 3 ปี ดังนั้น MEA จึงมีโครงการติดตั้งสถานีชาร์จให้ โดยจะออกค่าจ่ายให้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะใช้บริการติดตั้งสถานีชาร์จของเรา จะมีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1) ต้องแยกมิเตอร์ออกต่างหากจากมิเตอร์หลัก 2) ต้องเป็น Public Station และ 3)หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ทำให้เกิดไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ ต้องให้ MEA ปลดวงจร (ยกเลิกการใช้) ในสถานีได้
นอกจากนี้ MEA ยังมีแผนการขยายการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ เพื่อให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า แต่อยู่ระหว่างรอการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อกำหนดคุณสมบัติกลาง เพราะปัจจุบันแบตเตอรี่มีหลากหลายขนาด