กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยการเคหะแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตำรวจภูธรภาค 1 ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการชุมชนยั่งยืนแบบครบวงจร โดย นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ร่วมลงนามกับ พลตำรวจโท จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พร้อมด้วย นายอัครพล ลีลาจินดามัย กรรมการการเคหะแห่งชาติ ร่วมแสดงความยินดี พลตำรวจตรี พีระพงศ์ วงษ์สมาน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ปฏิบัติราชการตำรวจภูธรภาค 1 และ นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 5 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการพัฒนาและจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ควบคู่ไปกับการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ซึ่งการเคหะแห่งชาติมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดในชุมชนให้หมดไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
การเคหะแห่งชาติจึงได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตำรวจภูธรภาค 1 เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนของการเคหะแห่งชาติในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชัยนาท จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสระบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอ่างทอง เพื่อเป็นต้นแบบชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน โดยจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการดำเนินโครงการชุมชนยั่งยืนแบบครบวงจร ระหว่าง การเคหะแห่งชาติ และตำรวจภูธรภาค 1 เพื่อดำเนินงานชุมชนยั่งยืน
แก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรตามยุทธศาสตร์ชาติ มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชนของ การเคหะแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง ฟื้นฟู ติดตาม ดูแล และช่วยเหลือ โดยการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ที่สามารถดูแลผู้ติดยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง เข้าใจ รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด เพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกันแก้ไข บำบัดยาเสพติดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับตำรวจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งสร้างรูปแบบการดำเนินงานชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนยั่งยืน” และสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการดำเนินงานของชุมชนการเคหะแห่งชาติในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป