ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาฬสินธุ์ ประกาศเดินหน้าขจัดความยากจนยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
09 ธ.ค. 2564

       มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ลงนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมประกาศวาระจังหวัดกาฬสินธุ์ ในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

    เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ มอบหมายให้นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับรองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระดับพื้นที่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ร่วมกับคณะหน่วยงานส่วนราชการจังหวัด รัฐวิสาหกิจ และองค์กรภาคีเครือข่าย เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมร่วมกันประกาศวาระ จ.กาฬสินธุ์ ในการขจัดความยากจนและพัฒนาคน ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า  โครงการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมสนับสนุนการทำงานเชิงพื้นที่แบบร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.กาฬสินธุ์ เป็นการศึกษาวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและการจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โปรแกรมที่ 14 ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยมีตนเป็นหัวหน้าโครงการ มีนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์จากหลากหลายสาขาวิชาจำนวนทั้งสิ้น 35 คน ร่วมดำเนินการ

  รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวัตถุประสงค์นั้น เพื่อสนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลความยากจนและติดตามการช่วยเหลือ จังหวัดกาฬสินธุ์ ออกแบบกลไก กระบวนการวิจัยและเครื่องมือในการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำงาน ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลคนจนและหนุนเสริมกลไกพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดกาฬสินธุ์ และ เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ระดับครัวเรือนและการทำงานเชิงพื้นที่แก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเชิงพื้นที่

       ทั้งนี้การดำเนินงานในปัจจุบันมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จากฐานข้อมูล TPMAP และ Kalasin Happiness Model (KHM) ซึ่งมีจำนวนกลุ่มเป้าหมาย 10,154 ครัวเรือน โดยกลุ่มเป้าหมายแต่ละครัวเรือนมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในทุน 5 มิติ ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนทรัพยากรธรรมชาติและภัยพิบัติ ทุนสังคม 

      รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาพบว่าสามารถจำแนกกลุ่มครัวเรือนยากจน ออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละกลุ่มประกอบด้วย

1. กลุ่มอยู่ไม่ได้ หมายถึง คนพิการ เจ็บป่วย มีอายุมาก มีชีวิตอยู่ลำพัง อยู่ได้เพราะสวัสดิการรัฐและการช่วยเหลือจากชุมชน และเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ

2. กลุ่มอยู่ยาก หมายถึง คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ครอบครัวแตกแยก มีภาวะพึ่งพิง การศึกษาน้อย ไม่มีที่ทำกัน/ไม่มีกรรมสิทธิ์ เจ็บป่วยเรื้อรัง เริ่มสูงวัยติดยาเสพติดและไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง

3. กลุ่มอยู่ได้ หมายถึง มีแรงงาน ขยัน แต่มีที่ดินน้อย อยู่ใกล้แหล่งทรัพยากร มีรายได้จากบุตร-ธิดา แต่ขาดความรู้และโอกาสในการหารายได้เสริม มีทุนมนุษย์แต่ไม่มีทุนกายภาพและการเงินพึ่งพาทุนทรัพยากรธรรมชาติ รายได้หลักมาจากการรับจ้าง และสมาชิกในครัวเรือนมีจำนวนมาก 4. กลุ่มอยู่ดี หมายถึง มีหนี้สินแต่มีศักยภาพการจัดการหนี้สิน มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มีบ้านมั่นคง มีอาชีพมั่งคง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเกษตรการประกอบการ มีรายได้จากบุตร-ธิดา และมีเครือข่ายทางสังคม

       อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานโครงการวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้เป็นเมือง “มั่นคงด้วยเกษตรปลอดภัย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามเป้าหมายของการพัฒนาจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

ทีมข่าวกาฬสินธุ์

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...