หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดแก่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และถูกออกหมายจับในคดีก่อการร้าย และคดีอื่น ๆ ซึ่งขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) และ (4) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ดำเนินการถอดถอนแล้ว
ในวันนี้ นายสุรพงษ์ ได้เดินทางมาที่อาคารรัฐสภา 2 เพื่อขอตรวจสอบเอกสารที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งมา ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา โดยย้ำว่า การดำเนินการการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาตนเอกพยายามขอเอกสารเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้คดี ตั้งแต่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและประธานชุดใหม่ ก็ได้ทำเรื่องขอไปอีก แต่ก็มีการเร่งรัดเพื่อดำเนินการ จนมีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรใช้อำนาจตรวจสอบ แต่กลับไม่ทำตามกฎหมายเสียเอง ซึ่งการดำเนินการตั้งแต่คณะกรรมการชุดก่อน ก็มีกรรมการที่ขาดคุณสมบัติร่วมทำหน้าที่อยู่ด้วย คำร้องที่พิจารณาจึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงอยากให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสนี้ จะใช้เวที สนช. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง และชี้ให้เห็นถึงการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ที่ไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย พร้อมยืนยันว่าการออกพาสปอร์ตให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นอำนาจของรัฐมนตรี แต่เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอธิบดีกรมการกงสุล รวมถึงไม่มีอำนาจระงับในเรื่องนี้ด้วย จึงปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งการตามที่มีการกล่าวหามา และหากมีอำนาจจริง ทำไมตนเองไม่ออกพาสปอร์ตแดงให้นายทักษิณ แต่กลับเป็นการออกพาสปอร์ตธรรมดา พร้อมย้ำว่าตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่รัฐมนตรี ไม่เคยก้าวล่วงการทำงานของฝ่ายข้าราชการประจำ
ส่วนเรื่องกระบวนการสร้างความปรองดอง นายสุรพงษ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเพิ่งได้หนังสือเชิญจากคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมกันเพื่อเตรียมประเด็นและบุคคลที่จะเข้าชี้แจง ส่วนเรื่องการทำสัตยาบรรณร่วมกัน ก็มองว่าถ้ามีความจริงใจ อยากเห็นบ้านเมืองสงบเดินหน้าได้ ทุกฝ่ายต้องหาข้อยุติร่วมกัน ถอยหลังกันคนละก้าว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะได้สิ่งที่แต่ละฝ่ายต้องการ