นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อพฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลกและเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชียจากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (John Hopkins University และ Nuclear Threat Initiative) ได้นำเสนอผลการวิจัยระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ล่าสุด มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ รายงานผลการประเมินระดับใหม่ ปี 2564 พบว่า ไทยขยับขึ้นเป็นอันดับ 5 จาก 195 ประเทศ ด้วยคะแนน 68.2 จาก 100 คะแนน
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสนับสนุนทรัพยากรเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเต็มที่ อันเห็นได้จากการตรวจพบผู้ป่วยโควิด 19 รายแรกนอกประเทศจีน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ และตอบโต้สถานการณ์การระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ไทยเป็นอันดับ 1 (91.5 จาก 100 คะแนน) ในด้านความสามารถในการตรวจจับโรคและรายงานที่รวดเร็ว รองลงมาคือ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังเป็นอันดับที่ 2 จากทุกประเทศที่เด่นด้านการตอบโต้ที่รวดเร็ว (67.3 จาก 100 คะแนน) รองจากฟินแลนด์ ส่วนหนึ่งเป็นผลสำเร็จจากการที่ไทยเป็นประธานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพ (GHSA Chair) ในปีที่ผ่านมา ที่เน้นการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและทำงานโดยประยุกต์หลักสุขภาพหนึ่งเดียว พร้อมการติดตามประเมินผลการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถระบุแนวทางการดำเนินงานได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็น เพิ่มศักยภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคได้
“ประเทศไทยจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชนและประชาชนที่ร่วมด้วยช่วยกัน โดยเฉพาะบุคลากรด่านหน้าที่ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง การจัดอันดับนี้เป็นการสะท้อนให้สากลเห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายด้านสาธารณสุขและการจัดการกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19” นายอนุทิน กล่าว
10 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health security) อันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 75.9 คะแนน 2. ออสเตรเลีย 71.1 คะแนน 3. ฟินแลนด์ 70.9 คะแนน 4. แคนาดา 69.8 คะแนน 5. ไทย 68.2 คะแนน 6. สโลวีเนีย 67.8 คะแนน 7. สหราชอาณาจักร 67.2 คะแนน 8. เยอรมนี 65.5 คะแนน 9. เกาหลีใต้ 65.4 คะแนน และ 10.สวีเดน 64.9 คะแนน